Startup

ความในใจ’บิ๊กตู่’ 7 ข้อเสนอสตาร์ทอัพ ไม่ง่าย-ต้องใช้เวลา

เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการจัด Townhall เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา กับการรวมตัวกันของสตาร์ทอัพไทยกว่า 600 คนในวันนี้ เพื่อนำเสนอและยื่น White Paper ให้แก่นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล หวังช่วยหามาตรการส่งเสริมระบบนิเวศน์ของสตาร์ทอัพไทยให้สามารถแข่งขันได้จริงในระดับโลก รวมถึงมีข้อเสนอสำหรับนักลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็น Startup Nation อย่างแท้จริง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดยหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มของสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ผู้แทนวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพจากสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน สมาคมฟินเทคประเทศไทย สมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย สมาคมโปรเแกรมเมอร์ไทย ชมรมผู้ประกอบการโลจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ และตัวแทนนิสิต นักศึกษา เยาวชนไทย จาก STARTUP Thailand League รวมประมาณ 600 ราย

สำหรับข้อเสนอที่ทางกลุ่มได้ยื่นต่อนายกรัฐมนตรีประกอบด้วย 7 ข้อ ได้แก่

1) ควรส่งเสริมให้การจัดตั้งและประกอบกิจการวิสาหกิจเริ่มต้นในประเทศเป็นไปอย่างสะดวก โดยจัดตั้ง หน่วยงานที่กำกับดูแลวิสาหกิจเริ่มต้นโดยเฉพาะ และการจัดตั้ง หน่วยงานบริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service: “OSS”)
2) ควรให้การสนับสนุนทางการตลาดรวมไปถึงการขยายกิจการวิสาหกิจเริ่มต้นไปยังต่างประเทศ ทั้งตลาดภาครัฐ ตลาดภาคเอกชน และตลาดความร่วมมือระหว่างประเทศ
3) ควรให้การสนับสนุนเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะสูงต่อระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นในไทย โดยอาจสนับสนุนในรูปแบบของการให้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐเป็นค่าตอบแทนในการฝึกงานในวิสาหกิจเริ่มต้น หรือการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี
4) ควรสนับสนุนให้การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนา โดยให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการศึกษาที่คิดค้นนวัตกรรมหรืออาจจัดตั้งกองทุนสำหรับสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยจัดสรรงบประมาณไว้สำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ
5) ควรส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการระดมทุนของวิสาหกิจเริ่มต้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
6) ควรส่งเสริมให้มีการสร้างสังคมผู้ประกอบการ โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านเทคโนโลยีและความเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงสนับสนุนให้ผู้คนในทุกช่วงอายุให้สามารถเป็นผู้ประกอบการได้
7) ควรให้การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และการจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยควรให้มีกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้เกิดการทดสอบและพัฒนานวัตกรรม และมีระบบโครงสร้างพื้นฐานของระบบนิเวศน์วิสาหกิจเริ่มต้นในภาพรวมระดับประเทศ อาทิ กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กฎหมายบริษัทจำกัด และข้อจำกัดอื่น ๆ เช่น ข้อจำกัดในเรื่องของการแปลงหนี้เป็นทุน การเสนอขายหุ้นให้แก่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ถือหุ้นเดิม เป็นต้น ทั้งยังควรจัดให้มีศูนย์วิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการติดต่อให้ข้อมูลและบริการภายในระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้น

ตัวแทนสตาร์ทอัพมอบ White Paper ให้นายกรัฐมนตรี
ตัวแทนสตาร์ทอัพมอบ White Paper ให้นายกรัฐมนตรี

นางพรทิพย์ กองชุน ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มด้านการลงทุนจิตตะ (Jitta) และอดีตผู้บริหารกูเกิล ประเทศไทย อธิบายถึงข้อเสนอที่กลุ่มสตาร์ทอัพยื่นในครั้งนี้ว่า จากการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของเวิลด์แบงค์ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 จากทั้งหมด 190 ประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ประเทศสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 2 ของตาราง มาเลเซียอยู่ในอันดับ 24 ซึ่งตัวชี้วัดนี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพิจารณาของสตาร์ทอัพและนักลงทุนว่าประเทศนั้น ๆ เหมาะที่จะทำธุรกิจหรือไม่

ประการต่อมา การทำสตาร์ทอัพนั้น หลายครั้งที่นวัตกรรมยังนำมาใช้จริงไม่ได้ ต้องนำไปทดสอบก่อน แต่สำหรับข้อกำหนดของประเทศไทยนั้น ระบุว่าต้องมีการดำเนินการด้านเอกสารค่อนข้างนาน เพื่อขอไลเซนต์จึงจะสามารถทดสอบได้ ซึ่งในแง่ของการแข่งขันแล้วอาจไม่ทันเวลาเมื่อเทียบกับสตาร์ทอัพชาติอื่น ดังนั้นอาจเป็นการดีกว่าหากมีพื้นที่ Regulatory Sandbox ไว้เป็นพื้นที่ให้สตาร์ทอัพได้ทดสอบบริการของตนเองบ้าง และประการสุดท้ายที่นางพรทิพย์ กองชุนมองว่าสำคัญคือ การติดต่อหน่วยงานราชการที่ต้องเดินทางไปมาหลายกระทรวงของสตาร์ทอัพ ดังนั้นจึงอาจเป็นการดีกว่าหากจะมีหน่วยงาน One Stop Service สำหรับสตาร์ทอัพขึ้นมาช่วยประสานงานแทน

นายไผท ผดุงถิ่น
นายไผท ผดุงถิ่น

ด้านนายไผท ผดุงถิ่น ผู้ก่อตั้งบริษัทบิลค์ วัน จำกัด อีกหนึ่งผู้คร่ำหวอดในวงการสตาร์ทอัพเมืองไทยเผยว่า การสร้างนวัตกรรมไม่ใช่การพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาแล้วขายให้ลูกค้าอย่างเดียว แต่มันคือการสร้างตลาด และด้วยการแข่งขันของตลาดทุกวันนี้ ทำให้สตาร์ทอัพต้องมองออกไปนอกประเทศ เช่น มองไปถึง CLMV ซึ่งรวมแล้วมีประชากรมากถึง 250 ล้านคน มากกว่าจะจำกัดตัวเองไว้ในประเทศไทยที่มีประชากร 60 ล้านคน รวมถึงมองว่าไทยต้องสร้างสตาร์ทอัพกลุ่ม DeepTech ให้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อข้อเสนอของกลุ่มสตาร์ทอัพในวันนี้ว่า เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักในมุมของรัฐบาล เนื่องจากมีปัญหาอีกหลายอย่างที่รอให้แก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง, การกระจายรายได้, การพัฒนาศักยภาพของประชาชนในประเทศ ฯลฯ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ยกตัวอย่างการให้วีซ่ากับชาวต่างชาติ หรือข้อกำหนดเรื่องการถือหุ้นในสตาร์ทอัพนั้น ในมุมของรัฐบาลอาจถูกมองว่า เอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติก็เป็นได้ ดังนั้นจึงมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

“ประเทศไทยไม่เล็กนะ คนไทยมีตั้งเจ็ดสิบกว่าล้าน วันหน้าก็จะมีคนสูงวัยมากขึ้น ภาระก็มากขึ้น เราก็ต้องดูแล ซึ่งสำหรับสตาร์ทอัพในฐานะที่เป็นนักรบทางเศรษฐกิจ เราเห็นศักยภาพของท่าน ก็ขอให้ออกมาช่วย ๆ กัน”

โดยหลังจากการมอบ White Paper เสร็จสิ้นแล้ว นายกรัฐมนตรียังได้ถ่ายเซลฟี่กับสตาร์ทอัพ และผู้เข้าร่วมงานอย่างเป็นกันเองด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

Avatar photo