Business

กสทช.เก็บรายได้เยียวยาคลื่นฯ 1800-900 MHz ‘หมื่นล้าน’

สำนักงาน กสทช.เรียกเก็บรายได้ การให้บริการมาตรการเยียวยาคลื่น 1800 และคลื่น  900 ของ 3 บริษัท “ทรูมูฟ-ดีพีซี-เอไอเอส” รวม 10,918 ล้านบาท นำส่งรายได้รัฐ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่าวงเงินรวมในการเรียกเก็บรายได้จากการให้บริการในช่วงมาตรการเยียวยาทั้งคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ของทั้ง 3 บริษัท  คือ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด หรือ TRUE MOVE จากบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด หรือ DPC และจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ที่จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,918 ล้านบาท

ทั้งนี้ แยกเป็นเงินรายได้ที่เรียกเก็บจากบริษัท ทรู มูฟ จำกัด จำนวน 3,380 ล้านบาท  บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด จำนวน 869 ล้านบาท และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด จำนวน 6,669 ล้านบาท

กสทช
ฐากร ตัณฑสิทธิ์

นับตั้งแต่มีการประกาศเข้าสู่มาตรการเยียวยาตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 มี 4 บริษัทเข้าสู่มาตรการเยียวยา ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

สำหรับกรณี 3 บริษัท คือ ทรูมูฟ , ดีพีซี และ เอไอเอส กสทช. ได้พิจารณาตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการเรียบร้อยแล้ว ดังนี้

ais 2

1. กรณีคลื่นความถี่ 900 MHz มีระยะเวลาการให้บริการในช่วงมาตรการคุ้มครองฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 เป็นระยะเวลา 9 เดือน มติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 ให้เรียกเก็บเงินรายได้จากการให้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงมาตรการเยียวยาบนคลื่นความถี่ 900 MHz จาก เอไอเอส  นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เป็นการชั่วคราวตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 7,221 ล้านบาท พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้น (ยังไม่หักค่าใช้โครงข่าย TOT)

สำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือด่วนที่สุด สทช 5003/4058 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 เรียกเก็บเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบเกณฑ์และผลการพิจารณาค่าใช้โครงข่ายของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 900 MHz ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด เป็นจำนวนเงิน 551 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อหักค่าใช้โครงข่ายทีโอที แล้ว เงินรายได้ในช่วงมาตรการเยียวยาของ เอไอเอส  ที่จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเป็นเงินทั้งสิ้น 6,669 ล้านบาท

ทรูมูฟเอช

2. กรณีคลื่นความถี่ 1800 MHz บริษัท ทรู มูฟ จำกัด มีระยะเวลาการให้บริการในช่วงมาตรการคุ้มครองฯ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2558 เป็นระยะเวลา 2 ปี 2 เดือน 18 วัน มติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 17/2561 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 ให้เรียกเก็บเงินให้เรียกเก็บเงินรายได้จากการให้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงมาตรการเยียวยาบนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในช่วงระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองฯ จากบริษัท ทรูมูฟ จำกัด หรือ  ทรูมูฟ  เป็นเงิน 3,380 ล้านบาท (หักค่าโครงข่ายของ CAT เป็นเงิน 1,875 ล้านบาท แล้ว)

ส่วนบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด หรือ ดีพีซี  มีระยะเวลาการให้บริการในช่วงมาตรการคุ้มครองฯ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 เป็นระยะเวลา 2 ปี 2 เดือน 10 วัน ให้เรียกเก็บรายได้เป็นเงิน 869 ล้านบาท (หักค่าโครงข่ายของ CAT เป็นเงิน 425,729 บาท แล้ว) และสำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ สทช 5003/25073-25075 ลงวันที่ 7 กันยายน 2561 แจ้ง  ทรูมูฟ , ดีพีซี และ CAT ตามลำดับ พร้อมกันนั้นได้มีหนังสือที่ สทช 5003/24973 ลงวันที่ 7 กันยายน  2561 แจ้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ทราบด้วย

ดีแทค

นายฐากร กล่าวว่า ขณะนี้ที่ยังเหลืออยู่คือ กรณีของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ที่อยู่ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ซึ่งเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ที่ประชุม กสทช. มีมติกำหนดวันสิ้นสุดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่าน 1800 MHz ของ DTAC ให้มีผล ณ เวลา 23.59.59 น. ของวันที่ 15 ธันวาคม 2561

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถแจ้งการหยุดให้บริการต่อผู้ใช้บริการได้ตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ ส่วนกรณีคลื่นความถี่ 850 MHz จะสิ้นสุดการให้บริการในวันที่ 15 ธันวาคม 2561 ตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง จากนั้น สำนักงาน กสทช. จะเร่งตรวจสอบเงินรายได้ดังกล่าวเพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินให้เร็วที่สุด

“การสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของ ดีแทค บนคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800 MHz ถือเป็นการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยครั้งสุดท้ายแล้ว” นายฐากร กล่าว

Avatar photo