Economics

ทำความรู้จัก ‘ทัวร์เที่ยวไทย’ รัฐทุ่ม 5 พันล้านบาทกระตุ้นการท่องเที่ยว

ทำความรู้จัก “ทัวร์เที่ยวไทย” ครม. อนุมัติกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท ร่วมจ่าย (Co-pay) 40% ของค่าใช้จ่ายแพ็กเกจนำเที่ยว พร้อมเปิดเงื่อนไขใหม่โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ของการ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าเดินทางของประชาชนในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) 40% ของค่าใช้จ่ายแพ็กเกจนำเที่ยว แต่ไม่เกิน 5,000 บาท

สำหรับเงื่อนไขของโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” มีดังนี้

  • ต้องเป็นการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัดในวันธรรมดา (วันอาทิตย์-วันพฤหัสบดี)
  • พักค้างคืนไม่ต่ำกว่า 3 วัน 2 คืน
  • ไม่มีการกำหนดราคาขั้นต่ำ

รวมทั้งหมด 1,000,000 สิทธิ์ วงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่พฤษภาคม – สิงหาคม 2564

ทัวร์เที่ยวไทย

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ นักท่องเที่ยว ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน โดย นักท่องเที่ยว 1 คนสามารถใช้สิทธิ์ตามโครงการฯ ได้ 1 สิทธิ์ และได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับประชาชนผู้ท่องเที่ยวที่ได้รับเงินสนับสนุนหรือประโยชน์ใด ๆ

สำหรับ ผู้ประกอบการต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกับกรมการท่องเที่ยวก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติโดยกรมการท่องเที่ยว สามารถรับนักท่องเที่ยวได้บริษัทละ 3,000 ราย

“โครงการทัวร์เที่ยวไทย” เป็นการส่งเสริมฟื้นฟูธุรกิจภาคการท่องเที่ยวในประเทศตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวช่วยสร้างรายได้หลักของประเทศสูงถึง 17% ของจีดีพี โดยครม. ยังมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยปรับกระบวนการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตครอบคลุมทั้งระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงการฯ โดยมิชอบด้วย” โฆษกรัฐบาล กล่าว

ขณะเดียวกันที่ประชุม ครม. ได้ปรับเงื่อนไข “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยระบุว่า โครงการได้ยกเลิกการจัดกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางในรูปแบบ Consumer Fair จำนวน 3 ครั้ง วงเงิน 8.08 ล้านบาท ขยายสิทธิ์เพิ่ม 2 ล้านสิทธิ (จาก 6 ล้านเป็น 8 ล้านสิทธิ) ตั้งแต่ พฤษภาคม 2564 และขยายเวลาสิ้นสุดโครงการเป็น 31 สิงหาคม 2564 เพิ่มเติมมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริต ดังนี้

  • ขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย นำส่งข้อมูลจำนวนห้องพักของโรงแรม ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และขอสิทธิในการเข้าถึงฐานข้อมูล ภาพใบหน้าของประชาชน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการยืนยันตัวตน ของผู้ใช้สิทธิในโครงการ ด้วยการสแกนใบหน้า เมื่อทำการเช็คอินห้องพัก เพื่อให้ธนาคาร สามารถเชื่อมโยงเข้าถึงฐานข้อมูลดังกล่าวได้ เป็นการยกระดับการยืนยันตัวตน ของผู้ใช้สิทธิในโครงการให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น
  • ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ OTOP และผู้ประกอบการบริการที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ต้องตกลงให้ความยินยอมในการยอมรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข (Consent) ของโครงการ ที่จะจัดทำขึ้นใหม่ เพิ่มเงื่อนไขความรับผิดชอบและบทลงโทษกรณีมีการกระทำผิดเงื่อนไขหรือการกระทำทุจริตด้วย
  • ปรับระยะเวลาการจองห้องพักล่วงหน้าจาก 3 วัน เป็น 7 วัน
  • ปรับวิธีการชำระเงินค่าห้องพัก โดยให้ชำระผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” เพิ่มระบบการยืนยันตัวตนของผู้ใช้สิทธิโครงการ โดยผู้ใช้สิทธิต้องทำการสแกนใบหน้าเมื่อทำการเช็คอินห้องพัก
  • ปรับมูลค่าของ e-voucher ในลักษณะร่วมจ่ายในอัตรา 40% แต่ไม่เกิน 600 บาทต่อห้องต่อคืน (ราคาเดียวกันทั้งวันธรรมดาและวันหยุด)
  • ยกเลิกการใช้สิทธิในจังหวัดภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน ให้ใช้ e-voucher ในพื้นที่จังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวัดในทะเบียนบ้าน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ครม. ยังมอบหมายให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประสานธนาคารกรุงไทย เร่งพัฒนา ปรับปรุงระบบ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ให้สามารถเชื่อมโยงเข้าถึงฐานข้อมูล ยกระดับการยืนยันตัวตน ของผู้ใช้สิทธิ์ในโครงการ ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยนำเทคโนโลยีการระบุตำแหน่ง (GPS) มาใช้เพื่อระบุตำแหน่งในการยืนยันตัวตน ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินโครงการ มีความโปร่งใส รองรับการติดตาม ตรวจสอบ

รวมทั้ง กำหนดเงื่อนไขให้ประชาชน ไม่สามารถใช้สิทธิ์โครงการ พร้อมกันกับโครงการทัวร์เที่ยวไทย ในการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อให้เกิดการกระจายสิทธิ์ แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม สำหรับการชำระค่าบริการของทั้ง 2 โครงการจะต้องดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตังค์” เพื่อป้องกันการฉวยโอกาส จากการดำเนินโครงการของรัฐในทางมิชอบด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo