COLUMNISTS

‘ภัยคุกคามประชาธิปัตย์’ กับการยืนหยัด ‘อุดมการณ์’

Avatar photo
328

อีกไม่กี่วันผลการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่คุณอภิสิทธิ์ นำพรรคสู่ก้าวใหม่ของประชาธิปไตยด้วยการให้สมาชิกมีสิทธิหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ก็จะออกมาแล้วว่า ใครจะได้เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไประหว่างผู้สมัครหมายเลข 1 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สมัครหมายเลข 2 วรงค์ เดชกิจวิกรม และผู้สมัครหมายเลข 3 อลงกรณ์ พลบุตร

S 9494597

โดยจะเปิดให้สมาชิกเดิม 2.5 ล้านคน สมาชิกที่มายืนยันตัวตนกว่า 8 หมื่นคน และสมาชิกใหม่ที่สมัครภายในวันที่ 15 ตุลาคม อีก 3 หมื่นคนเศษ ลงคะแนนผ่านแอพพลิเคชันตั้งแต่วันที่ 1-3 พฤศจิกายน

ส่วนการลงคะแนนผ่านหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศจะมี 2 วัน คือวันที่ 1 พฤศจิกายน สำหรับกทม. ภาคเหนือ และภาคกลาง และวันที่ 5 พฤศจิกายน สำหรับภาคใต้และภาคอีสาน โดยจะทราบผลเกือบจะทันทีที่ปิดการลงคะแนน คือรู้ว่าใครชนะในศึกครั้งนี้กันวันที่ 5 พฤศจิกายนเลย

S 9494598

แต่จะได้รับการรับรองให้เป็นหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการต้องให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้เลือกในวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครกล้าเปลี่ยนแปลงผลที่เจ้าของพรรคคือสมาชิกเป็นผู้เลือก

ทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์ต่อจากนี้ เราพอจะมองเห็นภาพได้จากการแสดงวิสัยทัศน์ ระหว่างการดีเบต 61 ประชาธิปัตย์ คนไทยจะได้อะไร ที่ผู้สมัครทั้ง 3 คน นอกจากจะได้วัดกึ๋นกันสด ๆ แล้วยังเป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า จัดหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ไม่ได้เป็นแค่ “ปาหี่” แต่เป็นการต่อสู้ทางความคิดที่แหลมคมและมีผลต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากการโต้กันอย่างดุเดือดระหว่าง อภิสิทธิ์กับหมอวรงค์ เกี่ยวกับประเด็น “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นอุดมการณ์พรรค

ฝ่ายหมอวรงค์ เปิดประเด็นว่าจะเปลี่ยนอุดมการณ์พรรคจากเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยสวัสดิการ โดยให้เหตุผลว่า “เสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นเสรีภาพที่ทำให้เกิดการเอาเปรียบ มีการรวมหัวเอาเปรียบคนจน มีการผูกขาด รวยกระจุกจนกระจาย ผมจะเปลี่ยนแนวคิดเป็นประชาธิปไตยสวัสดิการ เน้นการดูแลคนด้อยโอกาส ให้คนด้อยโอกาสอยู่ร่วมกับคนที่มีฐานะอย่างเท่าเทียมกันและเคลื่อนประเทศไปด้วยกัน”

ขณะที่คุณอภิสิทธิ์ สวนกลับว่า เสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นประกาศอุดมการณ์ของพรรคที่เขียนไว้ว่า ประชาธิปัตย์เป็นพรรคในแนวเสรีนิยมประชาธิปไตย ย่อหน้าที่ 3 พรรคเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี สนับสนุนการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม

พรรคเชื่อว่ารัฐควรแทรกแซงในกรณีจำเป็นเพื่อป้องกันการผูกขาด ตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม เสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์ในด้านการเมือง การปกครอง

การผูกขาดไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเสรีนิยม เสรีนิยมคือการแข่งขัน เพราะฉะนั้นต้องไม่สับสนระหว่างเรื่องอุดมการณ์ในด้านการเมือง การปกครอง กับเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเสรีนิยมประชาธิปไตยสนับสนุนการแข่งขันและไม่สนับสนุนการผูกขาด ไม่สนับสนุนความเหลื่อมล้ำ

พร้อมกับสอนมวยหมอวรงค์เรื่องสวัสดิการว่า สวัสดิการเป็นนโยบายไม่ใช่อุดมการณ์ทางการเมือง เพราะเสรีนิยมประชาธิปไตยกับสังคมนิยมประชาธิปไตย ล้วนใช้สวัสดิการทั้งสิ้น

ความแตกต่างคือ สังคมนิยมประชาธิปไตย รัฐผูกขาดเรื่องการจัดสวัสดิการให้เก็บและเก็บภาษีสูงหน่อย เสรีนิยมประชาธิปไตย ยอมรับระบบสวัสดิการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เช่น ประกันสังคม กองทุนเงินออม และอาจจะเสริมด้วยสิ่งที่รัฐให้เปล่า เช่น เบี้ยยังชีพ หรือ เรียนฟรี เพราะฉะนั้นสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่ได้ขัดกับเสรีนิยมประชาธิปไตย อุดมการณ์ประชาธิปไตยของประชาธิปัตย์ต้องไม่เปลี่ยน

S 9494603

การปะทะทางความคิดที่เห็น ไม่ใช่การจัดฉาก แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีอดีตส.ส.ส่วนหนึ่งขาดความเข้าใจต่ออุดมการณ์พรรค และกำลังพยายามจะนำพาพรรคไปในทิศทางใหม่ด้วยการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์

คุณอภิสิทธิ์ ทิ้งท้ายในการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งนั้นถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เคารพ สายเลือดประชาธิปัตย์คนนี้ ผูกพันกับพรรคมานาน ผมรู้จัก สนใจพรรคตั้งแต่ผมยังไม่จบประถม ผมเดินหาเสียงให้พรรคตั้งแต่ผมยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย 27 ปีที่ผมเป็นนักการเมืองในนามพรรค ผมทุ่มเท ทำงานให้กับพรรคการเมืองพรรคนี้ แต่สิ่งที่ผมทุ่มเท เทียบไม่ได้กับบุญคุณที่พรรคมีให้กับผม กับคุณูปการที่พรรคนี้มีให้กับประเทศชาติ ผมปกป้องพรรค ต่อสู้เพื่อพรรค และประชาชนในทุกสถานการณ์ ภัยคุกคามต่อพรรคยังมี ยังมีคนจ้องทำลาย ยังมีคนอยากใช้พรรคเป็นเครื่องมือ ผมไม่ยอม และผมใช้โอกาสนี้ให้เจ้าของพรรคตัวจริง พลิกวิกฤตเป็นโอกาส นอกจากรักษาพรรค รักษาอุดมการณ์แล้ว นำประเทศไทยไปสู่ความรุ่งเรือง”

ทางแยกของพรรคระหว่างการต่อสู้กับภัยคุกคามพรรคด้วยการยืนหยัดอุดมการณ์ กับการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ใหม่ตามที่มีการเสนอแนวคิด “กล้าเปลี่ยน” ผลสรุปจะออกมาอย่างไร เป็นโอกาสของสมาชิกพรรคจะได้เป็นผู้กำหนด

เช่นเดียวกับทางแยกของประเทศไทย ก็เป็นโอกาสคนไทยทั้งชาติจะกำหนดว่าจะติดหล่มอยู่กับวลี “เอา-ไม่เอาเผด็จการ” หรือจะเดินหน้าให้การเลือกตั้งเป็นฉันทามติว่า “เราจะสร้างประเทศไทยด้วยประชาธิปไตยที่ไม่โกง”