Environmental Sustainability

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวลผลิตไฟฟ้าจาก ‘แกลบ-ฟางข้าว’

“ข้าว” เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของไทย มีแหล่งเพาะปลูกกระจายทั่วทุกภูมิภาค โดยในแต่ละปีมีการใช้พื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 70 ล้านไร่ และมีเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการผลิตข้าวเพื่อการบริโภค คือ แกลบ และฟางข้าว

จากฐานข้อมูลการผลิตข้าวของประเทศ มักจะมีเศษวัสดุเหลือทิ้งที่สำคัญ คือ แกลบ และฟางข้าว ซึ่งแกลบที่เกิดขึ้นในโรงสีข้าวขนาดใหญ่ มักถูกจำหน่ายให้โรงไฟฟ้าชีวมวล สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ส่วนฟางข้าวที่เหลือภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกรมักจะถูกเผาทิ้ง เพราะไม่คุ้มค่าต่อการขนส่ง ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันปกคลุมกระจายอยู่ทั่วไป

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล 'แกลบ-ฟางข้าว'

“ฟางข้าว” เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ยังไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ทั้งที่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลได้
ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ เพื่อลดภาระการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เช่น น้ำมัน ที่มีมูลค่านำเข้าปีละหลายหมื่นล้านบาท โดยหันมาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้จากการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะแกลบ และฟางข้าว ที่มีปริมาณมหาศาลในแต่ละปี

จากพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศที่มีค่อนข้างมาก ทำให้ ศักยภาพศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล ‘แกลบ-ฟางข้าว’ มีสูงมากในการนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยในฤดูกาลเพาะปลูกปี 2562/63 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.20 ล้านไร่ ผลผลิต 24.06 ล้านตันข้าวเปลือก และมีผลผลิตต่อไร่ 393 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2561/62 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 59.98 ล้านไร่ ผลผลิต 25.18 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 420 กิโลกรัม พบว่าเนื้อที่เพาะปลูก เพิ่มขึ้น 2.03%

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล 'แกลบ-ฟางข้าว'

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล ‘แกลบ-ฟางข้าว’ ในการผลิตไฟฟ้า

สำนักวิจัยและค้นคว้าพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จัดทำฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศ เมื่อปี 2556 พบว่า

“ฟางข้าว” ซึ่งเป็นชีวมวลที่เกิดในพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปี และข้าวนาปรัง ในปีเพาะปลูก 2556 มีปริมาณที่เกิดขึ้น 19,005,628.14 ตัน/ปี

“ฟางข้าว” ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี 19,005,628.14 ตัน มีการนำไปใช้ประโยชน์ 8,112,801.26 ตัน (42.7%) และมีปริมาณคงเหลือ 10,892,826.89 ตัน (57.3%) มีศักยภาพเทียบเท่าน้ำมันดิบ 3,188.71 ktoe/ปี เทียบเท่าพลังงานไฟฟ้า 7,461.59 GW-h/ปี หรือ คิดเป็นพลังงานติดตั้ง 942.12 เมกะวัตต์ แต่ฟางข้าวยังถูกนำมาผลิตไฟฟ้าน้อยมาก เนื่องจากเสื่อมสภาพง่าย เก็บได้ไม่นาน ค่าจัดเก็บสูง และค่าขนส่งสูง

“แกลบ” เป็นชีวมวลที่เกิดในโรงสีชุมชน โรงสีข้าวนึ่ง และโรงสีไฟ โดยในปีเพาะปลูก 2556 มีปริมาณแกลบที่เกิดขึ้น 8,145,269.20 ตัน/ปี

“แกลบ” ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี 8,145,269.20 ตัน ถูกนำไปใช้ประโยชน์ 8,006,283.36 ตัน (98.3%) ในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม และมีปริมาณคงเหลือ 138,985.84 ตัน (1.7%) มีศักยภาพเทียบเท่าน้ำมันดิบ 44.61 ktoe/ปี เทียบเท่าพลังงานไฟฟ้า 104.39 GW-h/ปี หรือ คิดเป็นพลังงานติดตั้ง 13.18 เมกะวัตต์

ขณะที่ฐานข้อมูลปี 2556 พบว่า ข้าวเปลือก 1 ตัน จะเกิดชีวมวลประเภทแกลบ 0.21 ตัน และมีฟางข้าว 0.49 ตัน โดยข้อมูลนี้จะเป็นฐานสำคัญต่อการนำไปใช้คำนวณปริมาณผลผลิต ที่จะนำไปใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวล

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล 'แกลบ-ฟางข้าว'

นับตั้งแต่เริ่มมีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล ‘แกลบ-ฟางข้าว’ มีสูงมาก และถูกนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะแกลบที่ได้รับความนิยมมากกว่าฟางข้าว จากการประเมินของ Krungthai COMPAAS ที่รวบรวมข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ระบุว่าในปี 2563 มีโรงไฟฟ้าจากการใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง คิดเป็น 12% ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง คิดเป็น 61% และใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ คิดเป็น 27% ของโรงไฟฟ้าชีวมวล

ข้อดีของการใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า คือ ใช้ปริมาณในการผลิตน้อย เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชีวมวลประเภทอื่น ๆ เนื่องจากมีความชื้นต่ำ แต่ปัญหาของการใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง คือ ต้นทุนสูง เพราะมีการแย่งชิงจากอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ ทำให้แนวโน้มแกลบมีไม่เพียงพอ แต่ก็ยังมีเชื้อเพลิงจากฟางข้าว ซึ่งมีเหลืออยู่ค่อนข้างมาก เนื่องจากยังไม่ได้รับความนิยม และมีต้นทุนรวบรวมเชื้อเพลิงค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตามอัตราการให้พลังงานใกล้เคียงกันกล่าวคือ การผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ หากใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง จะใช้ประมาณ 4,338 ตันต่อปี และหากใช้ฟางข้าวเป็นเชื้อเพลิง จะใช้ประมาณ 4,789 ตันต่อปี

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล 'แกลบ-ฟางข้าว'

ปัจจุบันประเทศไทยยังส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ตาม แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561–2580 (AEDP 2018) โดยกำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวล รวมอยู่ที่ 5,790 เมกะวัตต์ หรือ มีสัดส่วนรับซื้อใหม่อยู่ที่ 3,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 ซึ่งในแผนนี้ได้ประเมินชีวมวลคงเหลือ ที่มีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้เป็นพลังงาน ปี 2560 พบว่า แกลบ มีปริมาณเกิดขึ้น 8,974,554 ตันต่อปี ถูกนำไปใช้ในภาคเกษตรกรรม 2,620,273 ตันต่อปี และนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม 6,354,281 ตันต่อปี ไม่มีปริมาณคงเหลือ

ส่วน ฟางข้าว มีปริมาณเกิดขึ้น 43,056,371 ตันต่อปี ถูกนำไปใช้ในภาคเกษตรกรรม 15,371,125 ตันต่อปี ยังมีปริมาณคงเหลือ 27,685,245 ตันต่อปี มีศักยภาพเทียบเท่าน้ำมันดิบ 6,993 ktoe/ปี

ดังนั้นผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล จึงต้องศึกษาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และวางแผนบริหารจัดการวัตถุดิบให้รอบคอบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต่อการผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากแกลบและฟางข้าว เพราะนอกจากจะช่วยประเทศลดมลพิษจากการเผาทิ้งเศษวัตุดิบเหล่านี้แล้ว ยังสามารถนำมาผลิตไฟฟ้า ช่วยประเทศประหยัดการนำเข้าเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า ป้อนความต้องการใช้ในประเทศไทยให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight