Stock

‘ดาวโจนส์’ ทะยานกว่า 100 จุด จับตาแถลงการณ์ ‘เฟด’

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (17 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ดาวโจนส์ ขยับสูงขึ้น ส่วนเอสแอนด์พี 500 และแนสแด็ก ปรับลดลง ผลจากการทะยานขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และก่อนหน้าที่ ธนาคารกลางสหรัฐ จะแถลงผลการประชุม ที่อาจส่งสัญญาณ เกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 32,952.18 จุด ปรับขึ้น 126.23 จุด หรือ 0.38% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 3,948.26 จุด ลดลง14.45 จุด หรือ 0.36% และดัชนีแนสแด็กที่ 13,314.84 จุด ร่วงลง 156.73 จุด หรือ 1.16%

Stocksbitcoin ๒๑๐๓๐๓

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีต่างปรับตัวลงในวันนี้ โดยได้รับผลกระทบ จากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่อยู่เหนือระดับ 1.67% ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 13 เดือนในวันนี้

อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ต่างดีดตัวขึ้น ขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ตลาดจับตาการแถลงข่าวของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด หลังการประชุมวันนี้ เพื่อจับสัญญาณของเฟดเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในขณะนี้

พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รถยนต์ของสหรัฐ ซึ่งหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้เม็ดเงินในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดน้อยลง

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

ถ้อยแถลงของนายพาวเวลในครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากนักลงทุนกำลังกังวลว่า การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และตัวเลขเงินเฟ้อที่ส่งสัญญาณพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจผลักดันให้เฟด ยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หลังจากที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ต่อไปอีกราว 2-3 ปี

นักลงทุนกังวลว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นจากการที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

ก่อนหน้านี้ เฟดเคยส่งสัญญาณชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปี 2556 ซึ่งส่งผลให้เฟดลดการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ ทำให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความตื่นตระหนกจนทรุดตัวลงอย่างหนักในปีดังกล่าว

นายเอียน เชปเพิร์ดสัน หัวหน้านักวิเคราะห์ของ Pantheon Macroeconomics กล่าวว่า เขาจะรู้สึกประหลาดใจ หากนายพาวเวลส่งสัญญาณว่าเฟดจะเข้าสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในขณะนี้

นายเชปเพิร์ดสันเชื่อว่า นายพาวเวลจะหาทางผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในตลาด แต่เขาจะไม่พูดว่าเฟดจะลดวงเงิน QE เนื่องจากหากนายพาวเวลกล่าวเช่นนั้น ก็จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นโดยทันที ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมตลาดหุ้นที่กำลังมีความกังวลเกี่ยวกับการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

นอกจากนี้ นายเชปเพิร์ดสันกล่าวว่า การที่นายพาวเวลจะยังไม่ส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในวันนี้ เป็นสิ่งที่เหมาะสม เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงมีความไม่แน่นอน และเป็นเพียงการคาดการณ์ของตลาดเท่านั้น

ผลสำรวจของแบงก์ ออฟ อเมริกา ระบุว่า บรรดาผู้จัดการกองทุนมีความวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงจากเงินเฟ้อมากที่สุด ตามมาด้วยการที่เฟดอาจปรับลดวงเงิน QE ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 3

ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 37% แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ขณะที่ 35% ระบุว่า มีความกังวลต่อการที่เฟดอาจปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อตลาดพันธบัตร

ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนไม่ถึง 15% ระบุว่า มีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการกระจายวัคซีน โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่แสดงความกังวลดังกล่าวลดลงราวครึ่งหนึ่งจากการสำรวจในเดือนที่แล้ว

ปัจจัยความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 หลุดจากอันดับ 1 เป็นครั้งแรกในเดือนมี.ค. หลังจากที่ครองอันดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีที่แล้ว

ทั้งนี้ นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากขณะนี้สหรัฐมีการฉีดวัคซีนในวงกว้าง ส่งผลให้จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และจำนวนผู้เสียชีวิตลดต่ำลง

ผลสำรวจยังพบว่านักลงทุนยังมีความวิตกปลีกย่อยเกี่ยวกับภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท, การที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนอาจประกาศขึ้นภาษีต่อชาวอเมริกัน รวมทั้งอาจคุมเข้มกฎระเบียบในภาคธุรกิจ

ผลสำรวจบ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 2% จะส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททรุดตัวลงมากกว่า 10% และหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งแตะ 2.5% จะทำให้นักลงทุนถอนตัวออกจากตลาดหุ้นเพื่อเข้าลงทุนในตลาดพันธบัตร เนื่องจากมีความน่าดึงดูดมากกว่า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo