Economics

ศาลรัฐธรรมนูญลงมติ จ่าย ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ ขัดรัฐธรรมนูญ!!

คดีจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมติเสียงข้างมากวินิจฉัย มติที่ประชุมศาลปกครองสูงสุด นับอายุความฟ้องคดี ตั้งแต่วันเปิดทำการศาล ที่ใช้อ้างอิงในสัญญาสัมปทานขัดรัฐธรรมนูญ เหตุไม่ ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายทั้งไม่ผ่านประกาศราชกิจจา ใช้บังคับไม่ได้

ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2545 เรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง ที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มีนาคม 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ โดยให้เหตุผลว่าแม้เป็นการออกระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง

คดีดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ส่งคำร้องของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ขอให้วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองสูงสุด นำมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าว ที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย คือ ไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้หรือไม่ รวมทั้งการกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งผิดไปจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว

การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผลต่อการที่กระทรวงคมนาคม และรฟท.จะยื่นรื้อคดีใหม่  หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาสั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานปฏิบัติตามมติอนุญาโตตุลาการที่ให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์ กว่า 2.4 ล้านบาท

กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ได้ให้ นายนิติธร ล้ำเหลือ เป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจ ยื่นหลักฐานใหม่ต่อศาลปกครองขอรื้อคดี โดยอ้างว่า พบว่าบริษัทโฮปเวลล์ เป็นบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนไม่ถูกต้อง แต่ก็ถูกตีตกโดยศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด และนำไปสู่การที่กระทรวงคมนาคม รฟท. ยี่นคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

คดีจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์

การพิจารณาลงมติของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ องค์คณะตุลาการที่พิจารณาคดีนี้มีทั้งสิ้น 7 คน เนื่องจากศาลได้อนุญาตให้ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์  เคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ถอนตัวจากการพิจารณาตั้งแต่ต้นตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลปกครองมาตรา 34 ประกอบมาตรา 32 (1) และ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ที่ประชุมจึงเลือก นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 18 วรรคสี่

คดีจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ ขัดรัฐธรรมนูญ

สำหรับคดีค่าโง่โฮปเวลล์ ยาวนานมาถึง 13 ปี เริ่มตั้งแต่ 8 พฤศจิกายน 2551 อนุญาโตตุลาการ ให้ คมนาคม-รฟท.จ่ายค่าเสียหายแก่ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 11,888 ล้านบาท

13 มีนาคม 2557 ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการ คมนาคม-รฟท.ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ 11,888 ล้านบาท

22 เมษายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คมนาคม – รฟท.จ่ายค่าโฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ยรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ภายใน 180 วัน

22 พฤศจิกายน 2562 รฟท.ยื่นสี่หน่วยงาน เสนอ ครม. งดจ่ายค่าโง่ – สู้คดี

22 กรกฎาคม 2563 ศาลปกครองสูงสุดไม่รับพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ ตามคำร้องของคมนาคม และ รฟท. เสนอ

17 พฤศจิกายน 2563 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความมติศาลปกครองสูงสุด ปมมติที่ประชุมใหญ่ตุลการศาลปกครองสูงสุด นับอายุความวันตั้งศาลปกครองขัด รัฐธรรมนูญ หรือไม่

 ล่าสุด 17 มีนาคม 256  ศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เรื่องการนับอายุความนับแต่วันตั้งศาลปกครองขัดรัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการเจรจา จะพูดอะไรไปมากกว่านี้คงไม่ได้​ เพราะการเจรจายังไม่จบ

ส่วนเหตุผลที่ต้องเจรจา เนื่องจากเรื่องนี้อนุญาโตตุลาการมีคำแนะนำตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่าให้ทั้ง 2 ฝ่ายไปเจรจา จากนั้นบริษัท คิงส์เกต ได้ยื่นหนังสือมาขอเจรจาและการเจรจาเดินหน้าไปด้วยดี

คำวินิจฉัยใดที่ออกมาว่าใครชนะ ใครแพ้ จะต้องจ่ายเงินกี่บาท กี่พัน กี่หมื่น​ กี่แสน ที่ออกมาเป็นเฟกนิวส์ เพราะบาทเดียวยังไม่เสีย แต่ยอมรับว่าค่าทนายต่างคนต่างเสีย ส่วนผลเจรจาจะเป็นอย่างไร ต้องมารายงานให้รัฐบาลและอนุญาโตตุลาการทราบ แต่เวลานี้ยังไม่มีการรายงาน เพราะขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเหล่านี้

ส่วนเรื่องนี้จะนำไปสู่การฟ้องร้องรัฐบาลซึ่งทำให้เกิดการเสียหายตามที่ฝ่ายค้านอ้างหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่เกิดความเสียหาย เหมือนกรณีโฮปเวลล์ ค่าโง่ทางด่วน ต้องขออธิบายซ้ำ​ เพราะอาจฟังไม่ทันหรือไม่เข้าใจ​ เพราะไม่มีกฎหมายในมือ

ต้องอธิบายว่า ตาม พ.ร.บ.การรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มี 2 มาตรา คือมาตรา 9 มีอายุความ 1 ปี และมาตรา 10 มีอายุความ 2 ปี ถ้าพูดถึงอายุความ 1 ปีขาดไปแล้ว ถ้าอายุความ 2 ปีจะครบเดือนเมษายนนี้

แต่ความเป็นจริงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะกรณีละเมิดอาจเป็นการไล่เบี้ย สมมุติเจ้าหน้าที่ของรัฐไปทำละเมิด แล้วคนฟ้องเจ้าหน้าที่หรือฟ้องรัฐ รัฐก็จ่ายไป จากนั้นรัฐต้องไปไล่เบี้ยจากต้นเหตุ ตรงนี้ใช้มาตรา 9 มีอายุความ 1 ปีนับตั้งแต่ที่จ่ายเงิน แต่กรณีนี้ยังไม่ได้จ่ายแล้วจะไล่เบี้ยอย่างไร

ส่วนมาตรา 10 ที่มีอายุความ 2 ปี หมายความถึงตัวเจ้าหน้าที่ทำละเมิดรัฐเอง เช่นคนของหลวงเอารถหลวงไปใช้แล้วไปชน ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทำละเมิดต่อรัฐ รัฐต้องฟ้องเจ้าหน้าที่ ซึ่งปัญหาโฮปเวลล์อยู่ที่มาตรา 9 แต่รัฐยังไม่ได้จ่ายเงิน อายุความจึงยังไม่เริ่มนับที่ไปไล่เบี้ย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight