Politics

ยังไม่ได้ข้อสรุป! สภาถกวุ่น เสนอญัตติ โหวตทางออกแก้รธน.

สภาวุ่นยังหาทางออกไม่ได้ “สมชาย” ชิงเสนอญัตติ โหวตตกร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ด้าน “จุรินทร์” เสนอญัตติด่วนกลางสภา ส่งศาลตีความ 4 ปมยังไม่ชัด

วันนี้ (17 มี.ค.) มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่…. พ.ศ…. วาระสาม โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม

ก่อนการพิจารณา นายชวน แจ้งถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ตามที่รัฐสภายื่นคำร้องให้วินิจฉัย ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของรัฐสภา ต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า รัฐสภามีหน้าที่ และอำนาจจัดทำใหม่ได้ โดยให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ลงประชามติก่อนว่า ประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และเมื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบ กับร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

ประชุมสภา ๒๑๐๓๑๗17

จากนั้น ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาแสดงความเห็น ซึ่งก่อนเข้าสู่วาระ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอความเห็น ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า รัฐสภาไม่สามารถลงมติวาระ 3 จะเก็บไว้ไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนเห็นว่า ต้องเริ่มต้นโดยรัฐสภาเสนอญัตติ ขอจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อรัฐสภาเห็นชอบ จึงส่งให้คณะรัฐมนตรีทำประชามติ หากทำรัฐธรรมนูญใหม่ ให้รัฐสภาเท่านั้นมีอำนาจทำได้ โดยตั้งคณะกรรมาธิการการพิจารณา โดยไม่สามารถให้ ส.ส.ร. ดำเนินการได้

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปราย โดยอ้างอิงถึงความเห็นของฝ่ายกฎหมายวุฒิสภา คณะกรรมการประสาน และเสนอความคิดเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาของประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า รัฐสภาไม่สามารถลงมติวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญ คือ การทำฉบับใหม่ และมีผลยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และประชาชนยังไม่ได้ทำประชามติ

นายสมชาย ได้เสนอญัตติ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาลงมติว่า ไม่สามารถลงมติวาระ 3 ได้ และต้องตกไป เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันต่อรัฐสภา เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ทำประชามติ โดยมีผู้รับรองครบถ้วน

อย่างไรก็ดี นายชวน วินิจฉัยว่า ขอให้สมาชิกฝ่ายอื่นได้อภิปรายความเห็น เพราะกรณีดังกล่าวมีความเห็นที่หลากหลาย โดยมีผู้เสนอ 6 คน จึงขอให้อภิปราย

จากนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอญัตติต่อที่ประชุม เพื่อเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยการปฏิบัติให้ชัดเจน อาทิ

1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาพิจารณา เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติม หรือ ร่างแก้ไขทั้งฉบับ

2. ตามคำวินิจฉัยว่าด้วยการทำประชามติก่อนนั้น จะทำในช่วงใด คือ ก่อนการแก้ไขเนื้อหา หรือ ก่อนการลงมติวาระ 3

3. การทำประชามติ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุ ให้ ครม. ทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชน ตามมาตรา 166 ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร และ ตามมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ทำประชามติก่อนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ

4. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันมี 2 หลักการ คือ หลักการแก้ไขมาตรา 256 และ หลักการตั้ง ส.ส.ร. ทำรัฐธรรมนูญใหม่ ตามหมวด 15/1 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติ

“ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นั้นทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา นั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือเสียชีวิตไปแล้ว ทำให้มีปัญหา ผมจึงเห็นควรให้รัฐสภา มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นต่าง ๆ โดยไม่ต้องการประวิงเวลา หรือเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจุดยืนของประชาธิปัตย์ ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้จริง แต่เหตุที่ต้องขอความเห็นชอบ เพื่อให้กระบวนการเป็นไปโดยรอบคอบ และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมถึงสอดคล้องคำวินิจฉัย ปราศจากข้อสงสัย และไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง รวมถึงให้ญัตติเป็นทางออกให้ประเทศ”

นายจุรินทร์ กล่าวว่า หากรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบ ในทางปฏิบัติขอให้ วิป 3 ฝ่าย ร่วมมือยกร่างญัตติ เพื่อให้มีความชัดเจนต่อการปฏิบัติต่อไป

ทางด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ทักท้วงว่า การเสนอญัตติซ้อนญัตติไม่สามารถทำได้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา อย่างไรก็ดี ตนมองว่า ควรพิจารณาทีละญัตติ ซึ่งนายชวน ชี้แจงว่า ได้ปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่แล้ว เห็นว่า เป็นญัตติที่เกี่ยวเนื่องทำนองเดียวกัน

เมื่อถามญัตติต้องสอบถามทีละญัตติ หากญัตติของนายสมชาย ได้รับความเห็นชอบ ทำให้ญัตติของนายจุรินทร์ไม่มีผล แต่หากญัตติของนายจุรินทร์ ได้รับการรับรอง ญัตติของนายสมชาย ต้องค้างไว้

การเสนอญัตติดังกล่าวไม่ถือว่า ตกไป และทำได้ อย่างไรก็ดี ไม่แน่ใจว่า จะมีสมาชิกเสนอญัตติอื่นอีกหรือไม่ จึงให้โอกาสแสดงความเห็น และข้อเสนอ และสุดท้ายคือ การลงมติเรียงลำดับญัตติที่เสนอก่อน

อย่างไรก็ดี มีการโต้แย้งจากนายสมชาย ว่าการเสนอญัตติซ้อนไม่ถูกต้อง จึงขอให้ลงมติในญัตติที่เสนอก่อน ทำให้นายชวน เตรียมลงมติในญัตติที่เสนอ แต่มี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ อาทิ นายวีรกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ทักท้วงว่า วาระที่พิจารณาคือการปรึกษาหารือ ยังไม่เข้าระเบียบวาระ ดังนั้น จึงควรฟังความคิดเห็นจากสมาชิกรัฐสภา ที่ต้องการเสนอทางออก เพื่อไม่ให้เรื่องดังกล่าวไม่ต้องตกไป

ขณะที่  นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ คัดค้านการบรรจุญัตติของนายจุรินทร์ เนื่องจากไม่เป็นไปตามข้อบังคับ ที่ต้องทำเป็นหนังสือ และมีผู้รับรอง

นายชวน ชี้แจงด้วยว่า การเริ่มพิจารณานายสมชาย ได้เสนอญัตติ โดยที่รัฐสภายังไม่ทันได้พิจารณา จึงต้องดำเนินการ อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีข้อเสนอของสมาชิกรัฐสภา ที่ต้องการเสนอทางออก ดังนั้นตนขอให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายต่อไป และในตอนท้ายตนจะสรุปว่า จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างไร

ด้าน นพ.ชลน่าน โต้แย้งขอให้นายจุรินทร์ถอนญัตติดังกล่าว เพื่อไม่ให้เป็นปัญหา ซึ่งนายชวน วินิจฉัยว่า การเสนอญัตติดังกล่าว เป็นอำนาจทำได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้ถกเถียงถึงการเสนอญัตติด้วยวาจาต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งเสนอโดยนายสมชาย ส.ว. ที่ขอให้รัฐสภาลงมติให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3  นั้นตกไป เพราะมีเนื้อหาขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ ญัตติของนายจุรินทร์  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ชะลอการพิจารณาวาระ 3  และขอส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในทางปฏิบัติ

สมาชิกรัฐสภา ทักท้วง หลังจากที่ได้เห็นรายละเอียดในญัตติของนายสมชาย ที่เขียนด้วยลายมือ และเสนอต่อเจ้าหน้าที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ให้อำนาจรัฐสภาวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมาย หรือร่างรัฐธรรมนูญตกไปได้ เพราะหากมีประเด็น ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้นญัตติที่เสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญต้องตกไปนั้น หากไม่สามารถดำเนินการได้ ไม่สามารถรับเป็นญัตติให้รัฐสภาพิจารณาได้

ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนคำอภิปรายของนายสาทิตย์ พร้อมเสนอความเห็นว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจลงมติให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไปได้ ตามที่นายสมชาย เสนอ และเป็นญัตติที่ไม่ชอบ

นายชวน กล่าวว่า ก่อนการประชุมได้หารือกับฝ่ายกฎหมาย หากมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนว่า ประเด็นใดทำได้หรือไม่ นั้น ที่ประชุมรัฐสภาต้องตัดสิน บรรจุวาระด่วนเพื่อลงมติ หากลงมติต้องลงมติ ซึ่งตนเตรียมดำเนินการแล้ว อย่างไรก็ดีได้ให้สมาชิกรัฐสภาที่แสดงสิทธิอภิปรายได้อภิปรายต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo