Lifestyle

‘Yes , Plastic!’ TCDC เจริญกรุง นิทรรศการพลาสติกมีชีวิต

Nike of Samothrace”   หรือ เทพีไนกี้แห่งซาโมเทรซ ประติมากรรมยุคกรีกเฮเลนิสติก สร้างขึ้นจากหินอ่อนในราว 300 ปีก่อนคริสตกาล เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของกรีซในการรบที่ซาโมเทรซ ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธิภัณฑ์ลูฟร์ ประเทศฝรั่งเศส

เทพีไนกี้

แต่วันนี้ The Winged Victory of Samothrace รูปเทพีแห่งชัยชนะจำลอง ขนาดความสูง 2.5 เมตร ถูกนำมาทำเป็นสัญลักษณ์แห่งแรงบันดาลใจใหม่ ตั้งตระหง่าน ณ ลานห้องแสดง Yes , Plastic! Things to Rethink : เมื่อพลาสติกต้องคิดใหม่” ที่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) อาคารไปรษณีย์ไทย ถนนเจริญกรุง

นายอรรฐกรณ์ พรมโกฎิ ประติมากร ผู้ปลุกปั้นชิ้นงานนี้ เล่าที่มาของ หุ่นจำลองเทพีไนกี้ ว่า ทำจากถุงพลาสติกบดผสมปูนขึ้นรูปเป็นเทพีที่งามสง่า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของแนวคิดในการนำพลาสติกมาสร้างประโยชน์ เปลี่ยนจาก ”ลบ” เป็น “บวก”  นั่นหมายถึงพลาสติกไม่ใช่ “ขยะ” ไม่ใช่มลพิษ แต่เป็นชัยชนะได้ แค่ปรับมุมมองใหม่

นอกจากเทพีไนกี้แล้ว ยังขนาบข้างด้วยภาพวาด School of Athens ของราฟาเอล ศิลปินเอกอุ แห่งยุค เรเนอซองส์ ที่ทำจากพลาสติกเช่นเดียวกัน

นายปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (จีซี) แม้จะคุ้นเคยกับพลาสติก แต่เขาเป็นอีกคนที่เยี่ยมชมนิทรรศการอย่างสนอกสนใจ และอยากให้เยาวชนรุ่นใหม่ รวมถึงประชาชนทั่วไปได้มาเห็น และเกิดแรงบันดาลใจไปด้วยกัน

เขา บอกว่านิทรรศการนี้ทางจีซี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เพื่อนำเสนอศักยภาพ และมุมมองในการเลือกใช้พลาสติกแนวใหม่

“เมื่อยังต้องใช้พลาสติก จึงอยากให้เราเปลี่ยนมุมมองกันใหม่ จากการขยะพลาสติก คือ ภาระที่ต้องใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี มามองว่า เมื่อต้องอยู่นานอย่างนั้น ก็มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ให้อยู่ไปกับเขาผ่านความคิดสร้างสรรค์ เช่นประติมากรรมเทพีไนกี้ เป็นต้น”

plas1
ปฏิภาณ สุคนธมาน

ตลอดการทำงานของเขา นายปฏิภาณ ทราบดีว่าพลาสติกถูกสร้างอย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อใช้ทดแทนวัสดุทางธรรมชาติที่มีจำกัด ทำให้คุณภาพชีวิตมนุษย์ดีขึ้น แต่ละชิ้นที่ผลิตขึ้น ต้องผ่านกระบวนการมากมาย จึงควรต้องใช้อย่างมีศักดิ์ศรีด้วย ไม่ควรถูกใช้เพียง 5 วินาทีแล้วโยนทิ้งไปอย่างถุงหิ้วพลาสติก ที่ทำให้เกิดขยะมากมายในเวลานี้

ปัจจุบันทั่วโลกมีการนำขยะพลาสติกมาทำประโยชน์อย่างหลากหลาย  นอกจากประติมากรรมเทพีไนกี้แล้ว เขา ยกตัวอย่างว่า ยังมีการทำเสื้อผ้าจากขยะพลาสติก หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งลานแสดงนิทรรศการครั้งนี้ ได้นำข้อมูลจากทั่วโลกในการนำขยะมาสร้างคุณค่า สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนว่า “ขยะพลาสติก” ไม่ใช่ผู้ร้ายอีกต่อไป

โดยจีซีพร้อมสนับสนุนการนำขยะพลาสติกมาสร้างประโยชน์โดยเปิด Customer Solution Center หรือหน่วยผลิตภัณฑ์พลาสติกภายใต้ พีทีทีจีซี เพื่อทำหน้าที่เชื่อมต่อนักวิจัย นักออกแบบ และผู้ประกอบการ ทั้งภาครัฐและเอกชน สนับสนุนขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีมูลค่าเพิ่ม

ลานแสดง Yes , Plastic! Things to Rethink”  ให้ผู้คนได้สัมผัสขยะพลาสติกผ่านมุมมองทั้งจากศิลปิน นักออกแบบ และนักธุรกิจ  ให้เห็นว่าการเลือกใช้พลาสติกอย่างสร้างสรรค์มีความสำคัญเพียงใด

โดยแบ่งเนื้อหาการนำเสนอเป็น 3 ส่วนสำคัญ เพื่อกระตุ้นแรงบันดาล  ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 :เริ่มคิดตั้งแต่จุดเริ่มต้น ให้เห็นความสำคัญของการกำหนดเน้นทางการใช้งานพลาสติกตั้งแต่ต้น อาทิเช่น การเลือกใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้แทนการใช้พลาสติกทั่วไป ,หนังสือ Cradle to Cradle”  ที่พิมพ์ด้วยพลาสติก เพราะผู้เขียนต้องการให้หนังสือที่บรรจุความรู้มหาศาลอยู่คงทนถาวร ขยะพลาสติกที่นำไปทำเป็นเสื้อผ้า

20181030 160207

หรือการนำพลาสติกมาทำเป็นชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์เทียม เพื่อใช้แทนของจริงที่หายไป หรือการนำพลาสติกมาบดอัดผสมยางมะตอยกลายเป็นถนนสวยงาม และบล็อกคอนกรีตสำหรับงานก่อสร้าง ความคงทนและน้ำหนักที่เบาขึ้น ทำให้พลาสติกถูกนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย อาทิ เครื่องบิน โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ส่วนที่ 2 : “คำถามและการใช้งานพลาสติก” เพื่อให้ทุกคนหาคำตอบกับพลาสติก ตั้งแต่ “พลาสติกหายไปได้อย่างไร  “พลาสติกแข็งแรงได้ขนาดไหน  “พลาสติกทดแทนอะไรได้บ้าง และ “พลาสติกมีชีวิตได้หรือไม่

ส่วนที่ 3 : โมเดลการอยู่ร่วมกันในอนาคต (New Plastic Economy ) เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและบริโภคพลาสติกได้เข้ามามีส่วนร่วมออกแบบวงจรผลิตภัณฑ์พลาสติก ตั้งแต่การผลิต การใช้งาน และการเลิกใช้อย่างเป็นระบบ ลดการสูญเสียมูลค่า เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากวัสดุ และหมุนเวียนกลับคืนสู่ระบบการผลิตอีกครั้งอย่างไม่สิ้นสุด

kitti

นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ ซีอีเอ เล่าว่า ลานแสดง “Yes , Plastic! Things to Rethink” เพื่อบอกให้ผู้คนคิดก่อนใช้พลาสติก ซึ่งจะทำให้ตลอดเส้นทางของพลาสติกนั้น ถูกใช้อย่างมีคุณค่าที่สุด

“หลายคนคิดแต่ว่าพลาสติก ทำให้เกิดขยะ จริงๆพลาสติกไม่ใช่ต้นตอ เพราะมีคุณสมบัติที่ดีมากมาย ต้นตออยู่ที่เราใช้งานอย่างไรมากกว่า หากคิดเป็นระบบ ก็จะไม่เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม เพราะพลาสติกจะถูกนำไปทำประโยชน์ได้ตลอดวงจรของมัน ”  

Avatar photo