COVID-19

ลิ่มเลือดอุดตัน เกิดได้จากหลายปัจจัย ‘หมอทวี’ วอนอย่ากังวล พร้อมฉีดวัคซีนโควิด

ลิ่มเลือดอุดตัน เกิดได้จากหลายปัจจัย “หมอทวี” ย้ำไทยเลื่อนฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ เนื่องจากโควิดเริ่มสงบ รอผลสอบสวนที่แน่ชัดจากฝั่งยุโรป

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศไทยต้องเลื่อนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าให้กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เนื่องจากพบรายงานผลข้างเคียงในประเทศฝั่งทวีปยุโรป 22 ราย เป็นเลือดแข็งตัว หรือเกิด ลิ่มเลือดอุดตัน ในหลอดเลือดดำภายหลังการฉีดนั้น

ลิ่มเลือดอุดตัน

กรณีที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องสอบสวนโรคให้กระจ่างชัด ทำให้ตอนนี้หลายประเทศทางแถบยุโรป รวมถึงประเทศไทย ต้องชะลอการฉีดวัคซีนตัวนี้ออกไปก่อน แต่ในขณะเดียวกันล่าสุดก็มีรายงานว่า 2 ประเทศ คือ แคนาดา และ ออสเตรเลีย ที่ยังคงมั่นใจเดินหน้าฉีดวัคซีนตัวนี้ต่อ

สำหรับโรคลิ่มเลือดอุดตัน เกิดได้ในหลายกรณี ได้แก่ การเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุขึ้นไป อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะยิ่งมีอายุสูงขึ้น การออกกำลังกาย หรือการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย จะทำให้เลือดไหลช้า มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดได้

นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับเผ่าพันธุ์ด้วย จะเห็นว่าเผ่าพันธุ์ฝรั่งหรือแอฟริกัน มีโอกาสเกิดมากกว่า ชาวเอเชีย ประมาณ 3-5 เท่า รวมไปถึงอาจเกี่ยวกับโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน เพราะว่าเบาหวานจะทำให้เส้นเลือดมีการเปลี่ยนแปลง

ฉะนั้น เส้นเลือดก็คล้ายกับท่อระบายน้ำ ถ้าเลือดไหลไม่คล่อง ก็มีโอกาสเป็นลิ่มเลือดจับได้ หรือแม้แต่โรคหัวใจ ความดัน มะเร็ง แล้วก็โรคติดเชื้อต่างๆ หรือในหญิงตั้งครรภ์ก็มีโอกาสเป็น

ทั้งนี้ การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ส่วนใหญ่จะเกิดในผู้สูงอายุ แต่จะพบน้อยมากในแถบเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทย จึงขอให้สบายใจได้

หากพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการฉีดวัคซีน เมื่อดูค่าเฉลี่ยของอาการไม่พึงประสงค์ กรณีเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ในผู้รับการฉีดวัคซีนทั้ง 22 รายในแถบประเทศยุโรป จากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าไปแล้วราว 3 ล้านโดส พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3 รายต่อ 1 ล้านโดสต่อ 1 เดือน

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์

แต่โดยปกติ โรคลิ่มเลือดอุดตันในแถบยุโรป จะพบป่วยด้วยโรคนี้ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,000 รายต่อล้านคนต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะพบว่าการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ที่มีสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีน มีอัตราเกิดต่ำกว่าอัตราป่วยปกติกว่า 10 เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ต้องรอการสอบสวนโรคจากฝั่งยุโรป ให้เกิดความกระจ่างชัดก่อน คาดว่าผลของ 22 รายอออกมาน่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตัน แต่ประเด็นที่น่ากังวล หากมีรายงานว่าเป็นในคนหนุ่มสาว ยอมรับว่าน่ากลัว และจะต้องมีการรื้อค้นข้อมูลสอบสวนอย่างละเอียด

สำหรับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นหนึ่งในวัคซีนที่มีโอกาสเข้าสู่ตลาดวัคซีนเป็นอันดับหนึ่ง มีการสั่งซื้อกว่า 2,000-3,000 ล้านโดส มีการฉีดไปแล้วมากกว่า 34 ล้านโดส ซึ่งไม่พบรายงานอะไร

ส่วนประเทศไทย ควรชะลอการฉีดออกไปก่อน เพื่อความมั่นใจของทุกคน เนื่องจากสถานการณ์ในภาพรวมของไทยยังรอได้ เพราะสงบลงไปมาก ไม่ได้มีระบาดรุนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา คาดประมาณ 1-2 สัปดาห์ ข้อมูลสอบสวนน่าจะออกมา

“ตัวผมเอง คงจะฉีดในวันแรกที่ไฟเขียวขึ้น เพราะว่า ผมมั่นใจมาแล้วจากการเห็นข้อมูลเชิงลึกทั้งหมดที่มีเป็นพันๆ เกือบหมื่น หน้าที่วิจัยในอาสาสมัครกว่า 30,000 คน แล้วยิ่งตอนนี้ฉีดไปแล้ว 34 ล้านโดส ในหลายๆ ประเทศ และขอให้ทุกท่านอย่ากังวล”

สิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจว่าวัคซีนทุกตัว เวลาฉีดจะผลข้างเคียงทั้งนั้น แต่จะมีมากมีน้อยแตกต่างกัน

นพ.ทวี ยังกล่าวถึงกรณีเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ ว่า ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะไวรัสก็เหมือนกับคนที่ต้องปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตรอด แพทย์ไทยในหลายสถาบัน มีการนำเชื้อไวรัสโควิดไปถอดรหัส พบว่ายังคงเป็นเชื้อดั้งเดิมอยู่ ดังนั้น ยารักษา หรือวัคซีนที่ไทยมีสองชนิด ยังใช้รักษาได้

ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาครยังพบผู้ป่วยต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตรวจค้นหาอย่างเข้มข้นต่อไป…ตอนนี้ต้องขอให้ประชาชนและแรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครงดการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

อย่างไรก็ตาม สำหรับเขตสุขภาพที่ 5 (สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี) มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมรวม 17,064 ราย แยกเป็นคนไทย 3,351 ราย และเมียนมา 13,675 ราย เสียชีวิต 8 ราย โดยผู้ป่วยยืนยันสะสมส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo