COVID-19

กรี๊ด! ฐานะการเงิน 8 สายการบินสัญชาติไทย ‘อันตราย’ แก้ไม่ได้จำกัดขายตั๋ว

กรี๊ด! ฐานะการเงิน 8 สายการบินสัญชาติไทย “อันตราย” สั่งเรียกแจงแนวทางฟื้นฟูด่วน แก้ไม่ได้ห้ามเพิ่มเส้นทาง – จำกัดขายตั๋ว

รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท. หรือ CAAT) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 3/2564 มีมติรับทราบผลการประกอบกิจการประจำปี 2562 และการจัดกลุ่มตามระดับสุขภาพทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบประจำ (สายการบินขนส่งผู้โดยสารสัญชาติไทย) โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

  • ระดับอันตราย จำนวน 8 บริษัท
  • ระดับเฝ้าระวัง จำนวน 3 บริษัท
  • ระดับปลอดภัย ไม่มี

ฐานะการเงิน สายการบิน สัญชาติไทย

โดย กบร. ได้เห็นชอบแนวทางในการกำกับสายการบินในแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กรณีที่อยู่ในระดับอันตราย กพท. จะเชิญสายการบินเข้ามาชี้แจงรายละเอียดและทำแผนฟื้นฟูธุรกิจ ภายในเดือนมีนาคม 2564  เพื่อประเมินสถานะทางการเงินว่าจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า รวมทั้งเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อร่วมกันหารือทางออกและจัดการกับปัญหาได้อย่างทันท่วงที

หากสายการบินไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ กพท. จะดำเนินการ ไม่พิจารณาจัดสรรเส้นทางบินเพิ่มเติม ไม่อนุญาตให้จัดหาอากาศยาน (เครื่องบิน) เพิ่มเติม และการจำกัดระยะเวลาในการจำหน่ายบัตรโดยสารล่วงหน้าเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้โดยสารในอนาคต

ส่วนกรณีที่อยู่ในระดับเฝ้าระวัง กพท. จะสั่งให้สายการบินส่งข้อมูลการคาดการณ์สถานะทางการเงินในช่วง 12 เดือนข้างหน้า พร้อมข้อสมมติในการคาดการณ์ และ กพท. ดำเนินการตรวจสอบความสมเหตุสมผลของข้อสมมติที่สำคัญกับแหล่งข้อมูลจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก กพท.

นอกจากนั้น กบร. ได้สั่งการ ให้ กพท. ศึกษาและทบทวนแบบจำลองการจัดกลุ่มตามระดับสุขภาพทางการเงินของสายการบินเพื่อให้มีแบบจำลองที่เหมาะสมที่สุดกับบริบทของประเทศไทย

shutterstock 1603675903

นอกจากนี้ กบร. มีมติรับทราบการวิเคราะห์ผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด- 19 ต่ออัตราค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศของ กพท.

จากการรายงานผลดังกล่าว พบว่า จำนวนผู้โดยสารจากต่างประเทศที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ส่งผลให้ต้นทุนต่อผู้โดยสารที่สายการบินต้องแบกรับปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนทำให้สายการบินจำเป็นต้องปรับเพิ่มค่าโดยสาร อย่างไรก็ตาม สายการบินจำเป็นต้องปรับลดค่าโดยสารสูงสุดลงเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของกลุ่มผู้โดยสารในประเทศไทย

นอกจากนั้น ผลของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (Excise Tax) สรุปผลได้ว่ามาตรการการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเป็นการช่วยลดต้นทุนผันแปร (Variable Cost) ให้กับสายการบิน อันจะเป็นการช่วยพยุงให้สายการบินดำเนินธุรกิจต่อไปได้

แต่การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันไม่ส่งผลต่อความสามารถในการลดค่าโดยสารได้ เนื่องจากสายการบินต้องรับภาระต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) รายการอื่น ๆ ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ และการกำหนดราคาค่าโดยสารมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่น ฤดูกาล อุปสงค์ ระยะเวลาการจองล่วงหน้า เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว สาเหตุที่สายการบินไม่สามารถลดค่าโดยสารให้ต่ำลงได้อีก เนื่องจาก 4 สาเหตุ คือ จำนวนผู้โดยสารภายในประเทศและจากต่างประเทศลดลง, จำนวนเที่ยวบินลดลง, การขาดสภาพคล่องของสายการบิน และภาระต้นทุนคงที่ (Fixed Cost)

shutterstock 365302412

ในการประชุม กบร. ครั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธาน กบร. ได้มีข้อสั่งการให้ กพท. ประสานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อจัดให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่บุคลากรทางการบินซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสและใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางทางอากาศเ พื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดทำการบินระหว่างประเทศและเพื่อให้ประเทศไทยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจผ่านระบบการขนส่งทางอากาศได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo