World News

ตั้งใจฆ่า! ‘แอมเนสตี้’ ชี้ ‘กองทัพเมียนมา’ วางแผนสังหาร ‘ผู้ประท้วง’ อย่างเป็นระบบ

“แอมเนสตี้” องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เปิดเผยรายงานวิเคราะห์คลิปวิดีโอกว่า 50 ชิ้น ชี้ กองทัพเมียนมา สังหารผู้ประท้วงอย่างเป็นระบบ  มีการวางแผนล่วงหน้า และนำอาวุธหนักที่ใช้ในสนามรบ มาใช้อย่างกว้างขวาง

ข้อมูลในงานวิจัยใหม่ของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ทางการเมียนมาใช้อาวุธจำนวนมาก และหน่วยทหารที่ตรึงกำลังทั่วประเทศ ระหว่าง “มหกรรมสังหารหมู่” โดยชี้ว่ากองทัพเมียนมาใช้ยุทธวิธีร้ายแรงถึงขั้นชีวิตมากขึ้น รวมทั้งการใช้อาวุธที่มักใช้ในสนามรบ เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบ และผู้ที่มาดูเหตุการณ์ทั่วประเทศ

157001687 2045958305551897 574031139969611799 o
ภาพ : เฟซบุ๊กเพจ Myanmar Now

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ดำเนินการตรวจสอบคลิปวิดีโอกว่า 50 ชิ้น ที่เผยแพร่ระหว่างการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคลิปวิดีโอเหล่านี้ ถ่ายระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-8 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยผู้ถ่ายเป็นทั้งประชาชนทั่วไป และสื่อในท้องถิ่นตามเมืองต่าง ๆ รวมทั้งทวาย มัณฑะเลย์ มะละแหม่ง โมนยวา มะริด มิตจีนา และย่างกุ้ง

จากการตรวจสอบดังกล่าว หน่วยงานตรวจสอบหลักฐานช่วงวิกฤติของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สามารถยืนยันได้ว่า กองกำลังความมั่นคง ดูเหมือนจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ที่วางแผนอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการเร่งใช้กำลังถึงขั้นเสียชีวิต สภาพการสังหารที่บันทึกข้อมูลไว้เหล่านี้ รุนแรงถึงขั้นเป็นการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย

ภาพในคลิปวีดิโอชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทหารของกองทัพเมียนมา หรือที่รู้จักกันในชื่อ ทัตมะดอ ได้เพิ่มการใช้อาวุธที่เหมาะกับสนามรบ ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้เพื่อควบคุมฝูงชน  ทั้งยังเห็นภาพเจ้าหน้าที่แสดงพฤติกรรมที่เกินกว่าเหตุ รวมทั้งการกระหน่ำยิง โดยใช้กระสุนจริงอย่างไม่เลือกเป้าหมายในเขตเมือง

การตรวจสอบคลิปวีดิโอดังกล่าว ยังพบว่า  กองกำลังความมั่นคงมีอาวุธติดมือ เป็นปืนของทหารหลากหลายชนิด รวมทั้งปืนกลเบาแบบอาร์พีดีของจีน และปืนไรเฟิลซุ่มยิงแบบเอ็มเอเอส ที่ผลิตในประเทศ ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติแบบเอ็มเอ-1 ปืนกลมือที่สร้างเลียนแบบอูซี บีเอ-93 และบีเอ-94 และอาวุธชนิดอื่นที่ผลิตในเมียนมา

ทั้งหมดล้วนเป็นอาวุธ ที่ไม่เหมาะสมจะนำมาใช้ควบคุมการประท้วง ตามแนวปฏิบัติของสหประชาชาติ กองกำลังความมั่นคง ควรงดเว้นจากการใช้อาวุธปืน เว้นเสียแต่ว่ามีภัยคุกคามอย่างชัดเจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บสาหัส และไม่มีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมเหลืออยู่

shutterstock 1923394133

“อาวุธที่กองทัพเมียนมานำมาใช้ เผยให้เห็นยุทธวิธีการเร่งปราบปรามอย่างจงใจและอันตราย” โจแอน มารีเนอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายรับมือวิกฤติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว และว่า ยุทธวิธีของกองทัพเมียนมาเหล่านี้ ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่เป็นครั้งแรก ที่มีการถ่ายทอดสดมหกรรมสังหารหมู่เช่นนี้ให้ชาวโลกได้รับชม

“ปฏิบัติการเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลมาจากเจ้าหน้าที่เพียงบางคน ที่รู้สึกคั่งแค้น และตัดสินใจแบบชั่ววูบ แต่เป็นผลจากคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ที่เคยพัวพันกับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่ไม่มีความสำนึกผิด พวกเขาตรึงกำลังทหาร และใช้วิธีการที่มุ่งสังหารอย่างเปิดเผย”

“ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์รวมทั้งชิน คะฉิ่น กะเหรี่ยง ยะไข่ โรฮิงญา ฉาน ดาระอั้ง และอื่น ๆ ต่างตกเป็นเป้าหมายความรุนแรง ที่โหดร้ายของกองทัพเมียนมา พร้อมกับกลุ่มสิทธิอื่น ๆ พวกเราเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ส่งกรณีสถานการณ์ในเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ และให้นำตัวผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเมียนมา รวมทั้ง มิน อ่อง หล่ายเข้าสู่กระบวนการไต่สวน ตรงกันข้าม คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกลับยังไม่ได้ทำอะไรเลย และในวันนี้เราได้เห็นทหารหน่วยเดียวกันยิงปืนใส่ผู้ชุมนุมแล้ว”

“หน่วยงานของกองทัพต้องยุติการสังหารหมู่เช่นนี้ ลดความตึงเครียดของสถานการณ์ทั่วประเทศ และปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยพลการ”

ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอยังเผยให้เห็นว่า ตำรวจสามารถเข้าถึงอาวุธที่รุนแรงน้อยกว่า รวมทั้งปืนยิง “ลูกบอลกระสุนพริก” และปืนยาวที่บรรจุกระสุนยาง ซึ่งผลิตโดยบริษัท Zsr Patlayici Sanayi A.S. ของตุรกี โดยลูกกระสุนที่ใช้ผลิตโดยบริษัท Cheddite ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างฝรั่งเศสกับอิตาลี

shutterstock 1923394118

จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอเพิ่มเติมชี้ให้เห็นว่า หน่วยทหารที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามจนถึงขั้นเสียชีวิตเหล่านี้ ประกอบด้วยกองบัญชาการย่างกุ้ง กองบัญชาภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และกองพลทหารราบเบาที่ 33, 77 และ 101ซึ่งมักปฏิบัติการร่วมกัน และบางครั้งมีการหยิบยืมอาวุธให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

การตรวจสอบยังพบว่า ปัจจุบันมีการตรึงกำลังกองพลทหารราบเบาที่ 33 ที่มัณฑะเลย์ กองพลทหารราบเบาที่ 77 ที่ย่างกุ้ง และกองพลทหารราบเบาที่ 101 ที่โมนยวา ทั้ง 3 เมืองล้วนเกิดเหตุการณ์ใช้กำลังอย่างรุนแรงเกินขอบเขต รวมทั้งการสังหาร โดยกองกำลังความมั่นคงในช่วงหลายวันที่ผ่านมา

หน่วยทหารเหล่านี้บางส่วน มีชื่อเสียงอื้อฉาวเรื่องความทารุณ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐยะไข่ คะฉิ่น และตอนเหนือของรัฐฉาน โดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ เคยชี้ความผิดของทหาร จากกองพลทหารราบเบาที่ 33 ที่มีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมสงครามทางตอนเหนือของรัฐฉานเมื่อปี 2559 และ 2560 และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่เมื่อปี 2560

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo