Environmental Sustainability

ปักหมุดสุพรรณบุรี สร้างความรู้ ความเข้าใจ สู่ ‘โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน’

สำนักข่าว The Bangkok Insight หนึ่งในผู้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(5) พ.ศ. 2563 จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ลงพื้นที่ภาคกลาง ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จัดสัมมนา “โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน” สร้างความรู้ ความเข้าใจ ลดปัญหามลภาวะ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เสริมสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในพื้นที่ ปูทางแนวคิด “ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน”

สำนักข่าว The Bangkok Insight หนึ่งในผู้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(5) พ.ศ. 2563 จาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เพื่อดำเนินโครงการ “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION” ภายใต้แนวคิด “CLEAN ENERGY FOR LIFE: ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน”

โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสื่อสารเกี่ยวกับพลังงานสะอาด กระตุ้นและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ในการใช้พลังงานสะอาด สร้างการตระหนักรู้ ในคุณค่าของพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักข่าว The Bangkok Insight และองค์กรภาคี ร่วมกันสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วม ผ่านเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่

การลงพื้นที่ภาคกลางในครั้งนี้ สำนักข่าว The Bangkok Insight เลือกจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่จัดงานสัมมนาครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน” ภายใต้โครงการ “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION” เนื่องด้วยจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่การเกษตร ประชาชนมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก เช่น การเพาะปลูกข้าว ปลูกอ้อย ปลูกพืชไร่ ปลูกไม้ยืนต้น และไม้ผลต่าง ๆ รวมถึงการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือกากจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตรจำนวนมาก จึงนับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีเชื้อเพลิงชีวมวลที่เหมาะแก่การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล

โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน

จากข้อมูลของ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เมื่อเดือนเมษายน 2563 ระบุว่า ภาคกลาง มีโรงไฟฟ้าชีวมวลกระจายอยู่ในพื้นที่ถึง 15 จังหวัด มีจำนวนโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งหมด 71 แห่ง และมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมถึง 1,041 เมกะวัตต์ นับเป็นภาคที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย จังหวัดสุพรรณบุรี นับเป็นจังหวัดที่สำคัญในภาคกลาง ที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลมากเป็นอันดับที่ 2 ของภาคกลาง ที่จำนวนถึง 9 แห่ง รองจากจังหวัดกาญจนบุรี ที่มีจำนวนถึง 17 แห่ง

โดย โรงไฟฟ้าชีวมวล ใน จังหวัดสุพรรณบุรี กระจายอยู่ในพื้นที่ 5 อำเภอ ตั้งอยู่ใน อำเภออู่ทอง 3 แห่ง อำเภอด่านช้าง 3 แห่ง อำเภอสามชุก อำเภอสองพี่น้อง และอำเภอบางปลาม้า อำเภอละ 1 แห่ง โดยมีโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกของจังหวัด เป็นของ บริษัท น้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล จำกัด เริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า (COD) ตั้งแต่เมื่อปี 2547

โรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 9 แห่งในจังหวัดสุพรรณบุรี มีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 151.8 เมกะวัตต์ และมีปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาที่ 106.6 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลทุกแห่ง มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว เช่น บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (ด่านช้าง) จำกัด (โครงการ 1) ตั้งอยู่ในอำเภอด่านช้าง บริษัท คิเนติค เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ตั้งอยู่ในอำเภอสองพี่น้อง บริษัท อู่ทอง ไบโอ พาวเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ในอำเภออู่ทอง บริษัท สาลีไบโอแมส จำกัด ตั้งอยู่ในอำเภอบางปลาม้า และบริษัท ทิพย์สุพรรณบุรี ไบโอเอนเนอยี่ จำกัด ตั้งอยู่ในอำเภอสามชุก เป็นต้น

โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน

โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน

การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล การบริหารจัดการเชื้อเพลิง ถือเป็นปัจจัยสําคัญ ที่จะทําให้เกิดความยั่งยืนสําหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล การสร้างความมั่นคง และความสมดุลของเชื้อเพลิง ให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งในด้านปริมาณและราคา การกำหนดประเภทของเชื้อเพลิงที่จะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้า จำเป็นต้องหาเชื้อเพลิงที่เป็นหลักประกันได้ในระยะยาว มีความเสี่ยงน้อยที่สุด สามารถควบคุมได้ ทั้งในด้านปริมาณ และคุณภาพของเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม จังหวัดสุพรรณบุรี แม้จะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นหลายแห่ง แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มักมีประเด็นการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นอยู่จากชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลบางแห่งในบางพื้นที่ ยังสร้างปัญหามลภาวะ ส่งผลกระทบต่อประชาชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าอยู่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ ที่เกิดจากฝุ่น เขม่า และควัน จากโรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจจะยังดูแลควบคุมไม่ค่อยดีเท่าที่ควร จึงยังทำให้เป็นปัญหาไม่จบสิ้น

ดังนั้นการจัดเวทีสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้เห็นถึงกระบวนการบริหารจัดการ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นของวิทยากร ในการสร้างรูปแบบ การตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมของคนในชุมชน เป็นเรื่องสำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้าชีวมวลกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การลดการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ได้

การจัดสัมมนาครั้งนี้ ในหัวข้อ โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน เป็นการรับฟังมุมมองเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล จากนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานไฟฟ้า ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ผู้แทนโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ และผู้แทนจากภาคประชาสังคม ถึงกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล

โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน

นอกจากนี้ยังเป็นการสื่อสาร การสร้างความรู้ และความเข้าใจ ถึงบทบาทและภารกิจของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า วางมาตรฐานความปลอดภัย ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและชาวบ้านที่ดีขึ้น

สำนักข่าว The Bangkok Insight เชื่อมั่นว่าประโยชน์ จากการดำเนินโครงการ “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION” นอกจากจะช่วยสร้าง ความตระหนัก ในแนวคิด “CLEAN ENERGY FOR LIFE: ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” แล้ว ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ด้วยการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบอ้อย ชานอ้อย แกลบ เปลือกไม้ หญ้าคา ซังข้าวโพด และฟางข้าว เป็นต้น ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ไปผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล และยังเชื่อว่าเมื่อมีโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นในพื้นที่ ช่วยทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้เพิ่ม ให้กับคนในพื้นที่ และชุมชนใกล้เคียงโรงไฟฟ้า รวมถึงการได้ประโยชน์ จากการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(3) ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับดูแลชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight