World News

‘สตรีเมียนมา’ ชู ‘ผ้าถุง’ อาวุธสู้เผด็จการ

ผู้หญิงในเมียนมาได้นำเอาความเชื่อเรื่องโชคลางเกี่ยวกับผ้าถุง หรือ “ตะเมน” (Htamein) ในภาษาเมียนมา มาเป็นอาวุธต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพ และเริ่มการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “การปฏิวัติผ้าถุง”

ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ  รวมถึงเมียนมา มีความเชื่อว่า หากผู้ชายเดินลอดราวตากเสื้อผ้า หรือของใช้ของผู้หญิง ที่ใช้กับร่างกายในส่วนที่ต่ำกว่าเอวลงไป เช่น ผ้าถุง หรือ ชุดชั้นใน ซึ่งเชื่อว่าเป็น “ของต่ำ” ก็จะทำให้พลังอำนาจ หรือที่ชาวเมียนมา เรียกว่า “พง”( hpone) รวมทั้งความศักดิ์สิทธิ์ของอาคมในตัวเสื่อมลง

การปฏิวัติผ้าถุง

ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงเมียนมา จึงพากันขึงราวตากผ้าถุงไว้บนถนน เพื่อสกัดไม่ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เข้าไปจับกุมประชาชนในเขตที่พักอาศัย  และดูเหมือนว่าวิธีนี้จะใช้ได้ผลในหลายพื้นที่

ภาพที่ปรากฏทางโซเชียลมีเดีย เผยให้เห็นตำรวจต้องหยุด เพื่อปลดราวตากผ้าถุงลง ก่อนที่จะเดินทางต่อไป

การปฏิวัติผ้าถุง

กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้ทหารยุติการยึดอำนาจจากพลเรือน และให้ปล่อยตัวบรรดาผู้นำรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซูจี ที่ถูกควบคุมตัวตอนที่ทหารก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

กองทัพอ้างว่า ทำรัฐประหารเพราะมีการโกงเลือกตั้ง ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว พร้อมกับส่งอำนาจการปกครองประเทศ ให้แก่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลา 1 ปี

ความเชื่อที่แพร่หลายเกี่ยวกับ ‘ผ้าถุง’

ผู้หญิงเมียนมาได้ใช้ความเชื่อ ในเรื่องเหนือธรรมชาติ ที่มีอย่างแพร่หลายในประเทศ ในการทำ “การปฏิวัติผ้าถุง”

“ผมโตมากับความเชื่อที่ว่า ผ้าถุงของผู้หญิงเป็นของอัปมงคล ที่จะทำให้พลังของผมลดลง หากมันแขวนอยู่เหนือตัวผม และเพื่อนหลายคนของผมก็มีความเชื่อแบบเดียวกัน”  ตุน ลิน ซอ นักศึกษาคนหนึ่ง อธิบาย

ส่วน มีมี่ เอ นักเขียน และนักจัดรายการพอดแคสต์ชาวเมียนมา ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ระบุว่า กลุ่มนักกิจกรรมสตรี กำลังใช้ความเชื่อที่มีอคติทางเพศนี้ให้เป็นประโยชน์

“ความเชื่อที่งมงายนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผู้ชายจะสูญเสียพลังอำนาจไป เพราะผู้หญิงไม่สะอาดบริสุทธิ์ แต่หมายความว่า ผู้หญิงถูกมองเป็นวัตถุทางเพศ หรือเป็นสิ่งยั่วยวนทางเพศ ที่สามารถทำให้ผู้ชายอ่อนแอได้”

เธออธิบายต่อว่า ตามความเชื่อแต่ดั้งเดิมของเมียนมานั้น ผ้าถุงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี

“ผู้ชายที่ออกรบจะม้วนชายผ้าถุงของแม่แล้วใส่เป็น “ตะกรุดหู” ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงใน “การลุกฮือ 8888″ เมื่อปี 2531 ก็ใช้ผ้าถุงแม่ มาทำผ้าพันคอ”

การปฏิวัติผ้าถุง

การปฏิวัติผ้าถุง

ในการประท้วงครั้งล่าสุดนี้ ผู้หญิงเลือกที่จะใช้พลังแห่งผ้าถุง ในที่สาธารณะ โดยใน วันสตรีสากล เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา พวกเธอใช้ผ้าถุง ผูกเป็นธงโบกสบัด ในการเคลื่อนไหวที่พวกเธอเรียกว่า “การปฏิวัติผ้าถุง”

ตินซา ชุนเลย ยี นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย โพสต์ภาพทางออนไลน์ พร้อมคำบรรยายว่า “ผ้าคลุมไหล่ของฉัน ตะเมน ช่วยคุ้มครองฉัน ได้ดีกว่าทหารในเมียนมา”

ขณะที่ผู้ประท้วงบางคนเอาผ้าอนามัยไปติดไว้บนภาพพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำการก่อรัฐประหาร แล้วโปรยไปทั่วท้องถนน ด้วยความหวังว่า จะช่วยสกัดการรุกคืบของทหาร ไม่กล้าเดินเหยียบย่ำใบหน้าผู้นำของตน

ส่วนนักศึกษาชายอย่าง ตุน ลิน ซอ ก็ร่วมในขบวนการนี้ ด้วยการเอาผ้าถุงมาพันที่ศีรษะ

“มันเป็นการเพิ่มพลัง และแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้หญิงที่ออกมาประท้วงอย่างกล้าหาญ” เขาระบุในโซเชียลมีเดีย

การปฏิวัติผ้าถุง

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ ระบุว่า นับแต่กองทัพก่อรัฐประหาร ก็มีผู้ประท้วงเสียชีวิตแล้วกว่า 54 คน ซึ่งในจำนวนนี้ หลายคนเป็นผู้หญิง โดยนานาชาติ ต่างประณามการใช้ความรุนแรง ปราบปรามผู้ประท้วงในเมียนมา แต่แกนนำการก่อรัฐประหาร กลับไม่แยแส กับกระแสต่อต้านที่เกิดขึ้น

ส่วนกลุ่มผู้ประท้วงหญิง ต่างปฏิเสธ ที่จะนิ่งเงียบ และใช้ผ้าถุง ของพวกเธอ แสดงการต่อต้านการปกครอ งของทหารต่อไป

พวกเธอมีคำขวัญว่า “ตะเมนของเรา ธงของเรา ชัยชนะของเรา”

ที่มา : BBC

ภาพ : Twitter @KhinKhin_Mra, @FrontierMM, @hninyadanazaw

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo