Technology

‘อินเดีย’ แชมป์ปิดกั้นอินเทอร์เน็ตโลก ‘เมียนมา-บังกลาเทศ-เวียดนาม’ ติดท็อปเอเชีย

ผลศึกษาชี้ “อินเดีย” แชมป์ปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโลก เมื่อปีที่แล้ว ดำเนินการมากถึง 109 ครั้ง จากการปิดกั้นการเข้าถึงในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 155 ครั้งทั่วโลก  ขณะเมียนมา บังกลาเทศ และเวียดนาม ติดอันดับต้น ๆ ของการปิดกั้นในเอเชีย

“แอคเซส นาว” (Access Now)  องค์กรไม่หวังผลกำไรภาคเอกชน ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อปกป้อง และส่งเสริมสิทธิด้านดิจิทัลของผู้คนทั่วโลก รายงานว่า เมื่อปีที่แล้วมีการปิดกั้นการใช้อินเทอร์เน็ตรวม 155 ครั้ง โดยรัฐบาลใน 29 ประเทศทั่วโลก และตัวอย่างใกล้ตัวของเรื่องนี้ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา กับ อินเดีย

shutterstock 1075343891

ในช่วงราว 3 สัปดาห์ ที่ผ่านมาผู้คนในเมียนมา พบปัญหาการเข้าใช้อินเทอร์เน็ต เพราะในช่วงกลางคืน จะไม่สามารถเข้าใช้ได้จนกระทั่งถึงตอนเช้า

ดังนั้นชาวเมียนมาผู้ต้องการค้นหาข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ โดยปราศจากการปิดบัง หรือการบิดเบือนจากรัฐบาล จึงหันไปใช้แอปพลิเเคชันต่าง ๆ ที่ช่วยหลีกเลี่ยงการปิดกั้น จากทางการ โดยอาศัยช่องทางที่เรียกว่า virtual private network หรือ VPN เพื่อเข้าถึงเว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่นเฟซบุ๊ก  หรือ ทวิตเตอร์  แบบที่ไม่สามารถตรวจสอบได้แทน

ไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริงว่า ทำไมรัฐบาลทหารของเมียนมา จึงปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในช่วงกลางคืน แต่คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ทางการเมียนมาอาจจะใช้ช่วงเวลาของการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต เพื่อติดตั้งซอฟต์แวร์บางอย่าง ที่จะช่วยให้การเซ็นเซอร์ หรือติดตามผู้ใช้งานได้ง่ายขึ้น

อีกทฤษฎีหนึ่งก็คือ กองทัพเมียนมาอาศัยเวลาที่การสื่อสารทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ถูกจำกัด และตัดขาดนี้ เพื่อกวาดล้างจับกุมบุคคลต่าง ๆ

แต่เมียนมาก็ไม่ใช่ประเทศเดียว ซึ่งใช้วิธีปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยแอคเซส นาว ซึ่งทำงานเพื่อปกป้อง และส่งเสริมสิทธิด้านดิจิทัล ของผู้คนทั่วโลก รายงานว่าเมื่อปีที่แล้วมีรัฐบาลของ 29 ประเทศ ปิดกั้นอินเทอร์เน็ตรวม 155 ครั้งด้วยกัน

นายรามาน จิต ซิงค์ ชิมา ผู้อำนวยการนโยบายด้านเอเชีย ของแอคเซส นาว ชี้ว่า การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตมีขึ้น เพื่อการควบคุมทางการเมือง โดยในระดับโลกนั้นอินเดีย ใช้วิธีดังกล่าวมากที่สุด โดยเฉพาะในเขตแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งอินเดียมีอำนาจควบคุมอยู่ ตามมาด้วยเบลารุส ซึ่งปิดกั้นอินเทอร์เน็ตต่อเนื่องยาวนานถึง 61 ชั่วโมงในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี

โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลของประเทศที่ปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มักอ้างว่า มีความจำเป็นด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงในเวลาวิกฤติ หรือเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของข่าวปลอม และก็มีรัฐบาลของหลายประเทศเช่นกัน ที่ออกกฏหมายด้านความมั่นคง ของระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจมากขึ้น เพื่อควบคุมสิ่งที่ประชาชนสามารถรับรู้ หรือแบ่งปันทางอินเทอร์เน็ตได้ รวมทั้ง เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของผู้คนบนโลกออนไลน์ด้วย

สำหรับในภูมิภาคเอเชียนั้น แอคเซส นาว ระบุว่า อินเดียยังคงเป็นประเทศที่ปิดกั้นอินเทอร์เน็ตมากสุด เพราะใช้วิธีดังกล่าวมากที่สุด รวมถึง การลดอัตราความเร็วของการส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ให้เหลือเพียงระดับ 2G ในเขตพื้นที่ของแคว้นแคชเมียร์ ที่อินเดียปกครองอยู่

นอกจากนั้น เมียนมา ปากีสถาน บังกลาเทศ เวียดนาม และกัมพูชา ก็ใช้วิธีปิดกั้น หรือจำกัดสิทธิในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชาชน ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

shutterstock 1006828291

นายชิมา แสดงความกังวลพต่อเรื่องนี้ พร้อมเตือนว่า การจำกัดการเข้าใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึง กฎหมายความมั่นคงเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตนั้น มีผลกระทบต่อเสรีภาพของการแสดงออก และสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาของ Top10VPN องค์กรด้านการวิจัยความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยทางดิจิทัล ในสหราชอาณาจักรที่พบว่า การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นกัน เพราะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่ารวมทั่วโลก ถึง 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบ 3 ใน 4 ของมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจนี้ เกิดขึ้นที่อินเดียเพียงแห่งเดียว

รายงานของ Top10VPN ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้  ระบุว่า การปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ในปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ 155 ครั้ง จากจำนวน 213 ครั้ง ในปี 2562 และว่า การปิดกั้นการเข้าถึงแต่ละครั้ง ใช้เวลานานขึ้นกว่าเดิม

“เมื่อปีที่แล้ว ทั่วโลกดำเนินการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต คิดเป็นเวลารวมแล้ว 27,165 ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 49% จากปีก่อนหน้านี้ และเช่นเดียวกับปีก่อน ๆ อินเดีย ยังคงควบคุมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เข้มงวดกว่าทุกประเทศในโลก”

รายงานระบุด้วยว่า ในปี 2563 มีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตครั้งใหญ่ 93 ครั้งใน 21 ประเทศ ไม่นับรวม ประเทศอย่าง จีน และเกาหลีเหนือ ซึ่งรัฐบาลควบคุมหรือ จำกัด อินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด

การปิดกั้นดังกล่าว อยู่ในรูปแบบต่างๆ ไล่ตั้งแต่การทำให้อินเทอร์เน็ตใช้งานไม่ได้ทั้งหมด ไปจนถึงการบล็อกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือควบคุมความเร็วอินเทอร์เน็ต

“ความเสี่ยงของเรื่องนี้ อยู่ที่ว่า เมื่อชาติประชาธิปไตยรายหนึ่งทำแบบนี้ ชาติอื่น ๆ ก็อาจถูกดึงดูดให้ทำสิ่งเดียวกัน โดยอาจเริ่มต้นที่ระดับท้องถิ่น เพื่อจัดการกับความไม่สงบ ก่อนที่จะกระจายไปในวงกว้างมากขึ้น”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo