Business

รฟม. แถลงด่วน! ยันเกณฑ์ประมูล ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ เทคนิคคู่ราคาเหมาะสม

รฟม. ชิงแถลงด่วนตัดหน้า BTS ยืนยัน เกณฑ์ประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” แบบคะแนนเทคนิคคู่ผลตอบแทนเหมาะสมแล้ว

เมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ตรวจสอบและชะลอการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC นัดแถลงข่าวความคืบหน้าเรื่องการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีส้มต่อสื่อมวลชนในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ (10 มี.ค.)

ปรากฎว่าในช่วงเย็นวันนี้ (9 มี.ค.) การไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แจ้งการแถลงข่าวด่วนต่อสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม

รถไฟฟ้าสายสีส้ม เกณฑ์ประมูล

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รฟม. มีความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ดังนี้

1.รฟม. ได้ออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามประกาศดังกล่าว โดยติดประกาศ ณ ที่ทำการ รฟม. และเผยแพร่ทางหน้าเว็บไซต์ www.mrta.co.th เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564

2.รฟม. ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดี รวมถึงเหตุแห่งการพิจารณาเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไม่มีอยู่ต่อไป และคดีนี้มิได้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ การพิจารณาคดีต่อไปไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งอนุญาตให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ถอนอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ได้ยื่นคำร้องชี้แจงข้อเท็จจริงและขอให้จำหน่ายคดีต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาทหมดสิ้นไป ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อออกคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต่อไปอีก และศาลยังได้มีคำสั่งให้ คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วย

shutterstock 1425608906 e1607416718944

เกณฑ์ประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ต้องคุณภาพควบคู่ราคา

3.สืบเนื่องจากการยกเลิกการการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ข้างต้น รฟม. จึงได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนฯ ขึ้นใหม่อีกครั้ง ตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ส่วนที่ 2 (การคัดเลือกเอกชน)

โดยเริ่มตั้งแต่มาตรา 35 ซึ่งระบุให้ หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และร่างสัญญาร่วมลงทุน เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง (Opinion Hearing) และนำความคิดเห็นดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการจัดทำเอกสาร

ทั้งนี้ วิธีการและขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนดังกล่าว รฟม. ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563 โดยเนื้อหาที่เปิดรับฟังหลักๆ ประกอบด้วย สาระสำคัญของร่างประกาศเชิญชวน สาระสำคัญของร่างเอกสาร RFP และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน

4.รฟม. ได้ออกประกาศการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564

โดยในส่วนของหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนนั้น รฟม. เห็นว่า จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการฯ ที่เอกชนผู้ร่วมลงทุนต้องดำเนินการด้วยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด จึงกำหนดวิธีประเมินคะแนนด้านเทคนิคและคุณภาพควบคู่คะแนนด้านผลตอบแทนและการลงทุน (Price-Performance) ซึ่งสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และสาระสำคัญของร่างสัญญาฯ พ.ศ. 2563 โดยในข้อ 4(8) ที่ให้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ให้ระบุหลักเกณฑ์และวิธีการตัดสินเป็นคะแนนในทุกด้านทั้งด้านคุณภาพและด้านราคา

5.การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เป็นเพียงการรวบรวมความเห็นของเอกชนเพื่อนำมาใช้ประกอบในการปรับปรุงร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาฯ ตามที่ รฟม. เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการเป็นสำคัญ เท่านั้น เพื่อที่ รฟม. จะนำร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาฯ รวมถึงผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เสนอคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามหน้าที่และอำนาจในมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ

นายภคพงศ์กล่าวถึงการเปิดประมูลรอบที่ 2 ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างนำร่าง RFP เปิดรับฟังความเห็น คาดว่าจะเปิดประมูลเดือนเมษายน เปิดให้เอกชนยื่นซองเสนอราคาเดือนมิถุนายน ประกาศผลการประมูลเดือนกรกฎาคม และนำเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติผลการประมูลในเดือนสิงหาคม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo