COLUMNISTS

‘ความหวัง’ ของฝากจากดร.มหาเธร์

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
416

สำรวจข่าวการเดินทางเยือนไทยของ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี มาเลเซีย  สัปดาห์ที่ผ่านมาจากสื่อต่างๆ แล้ว ให้ความรู้สึกหลายแง่มุม

มุมหนึ่งคือความรู้สึกเหมือนเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันได้กลับมาพบกันอีกอย่างไม่คาดฝัน ภาพ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จับมือต้อนรับ ดร.มหาเธร์ นายกฯ มาเลเซีย ในฐานะเพื่อนเก่า ที่ไปเยี่ยมเยียนถึงบ้านสี่เสาเทเวศร์ สื่อความรู้สึกนี้ได้ดี

ในการบรรยายที่หอประชุมใหญ่จุฬาฯ หัวข้อ “ความสัมพันธ์ไทยมาเลเชียในบริบทของอาเซียน” เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา คนเข้าฟังล้นหอประชุมใหญ่จุฬาฯ

หากมองเชิงวิเคราะห์ลำพังหัวข้อบรรยายข้างต้น ซึ่งมาแนวธรรมเนียมนิยมคงไม่มีพลังดึงดูดผู้คนได้มากขนาดนี้ หากมีแรงดูดเสริม จากเรื่องราวทางการเมืองของ ชายวัย 93 ปีคนนี้ที่ยังสร้างความฮือฮาได้เสมอมา นับแต่ทำดีลการเมือง หันไปจูบปากกับ อันวาร์ อิบราฮิม คู่ปรับทางการเมืองเก่าแก่ที่ขัดแย้งรุนแรงมานานกวา 18 ปี ในระดับ ไม่เผาผีกัน ทั้งสองจับมือสร้างแนวร่วมฝ่ายค้าน จนสามารถคว่ำ นาจิบ ราซัค อดีตนายกฯ (2552-2561) ในการเลือกตั้ง เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา

ราวชั่วโมงครึ่งบนเวที ดร.มหาเธร์ เริ่มต้นบรรยาย ด้วยการพาคนฟัง ย้อนรอยความสัมพันธ์ ไทย- มาเลเซีย ตั้งแต่ยุค มาเลเซีย ได้รับเอกราชจากอังกฤษ อดีตผู้นำมาเลย์หลายคนเคยมาศึกษาในประเทศไทย เมื่อมาเลเซีย เผชิญปัญหาการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ประเทศไทยก็ให้ความช่วยเหลือ ดังนั้นเมื่อมีปัญหาในภาคใต้ จึงเป็นหน้าที่ของมาเลย์เช่นกัน

ตัวอย่างการแก้ปัญหาระหว่างไทยกับมาเลเซียที่ ดร.มหาเธร์ ยกขึ้นเป็นกรณีศึกษาคือ การใช้หลักการแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากก๊าซ และน้ำมัน ในสัดส่วนเท่ากัน 50 : 50 แก้ปัญหาการอ้างสิทธิทับซ้อนในพื้นที่ทางทะเล นายกฯ มาเลเซีย ยีนยันว่ากรณีดังกล่าว คือสิ่งที่ต้องให้คุณค่าเพราะสามารถแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง

ส่วนประเด็นการค้านั้น นายกฯ มาเลเซียยืนยันว่า ไทยซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับสองของมาเลเซีย รองจากสิงคโปร์ สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันได้อีก

ในช่วงถาม ตอบ คำถามที่ผู้ฟังในหอประชุมอยากรู้มีตั้งแต่ มุมมองของ ดร.มหาเธร์ ต่อวาระที่ประเทศไทยจะประธานอาเซียนปีหน้าไปจนถึง นายกฯ มาเลเชีย ดูแลตัวเองอย่างไร (ถึงอายุยืน และยังสามารถโลดแล่นบนเวทีการเมืองได้นานขนาดนี้)

มุมมองของดร.มหาเธร์ เรื่องอาเซียนน่าสนใจ !!!

อดีตนายกฯและนายกฯคนปัจจุบันของมาเลเซีย มีความเชื่อว่า อาเซียนสามารถทำได้ดีกว่านี้ (ด้านเศรษฐกิจ) หากอาเซียนสามารถผลิตเพื่อใช้เองในภูมิภาคและพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะอาเซียน มีประชากร 600 ล้านคน ถึงฐานะประชากรส่วนใหญ่ยังยากจนแต่ก็ถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก แทนที่จะซื้อจากภายนอก (ภูมิภาค) เช่นปัจจุบันจะทำให้มูลค่าการค้าและเงินตราไหลเวียนอยู่ในภูมิภาค

เขายกตัวอย่างด้วยว่า ควรศึกษาแบบอย่างความสำเร็จของ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน เป็นแนวทาง

สำหรับแนวคิดทางเศรษฐกิจของ ดร.มหาเธร์ ช่วงดำรงตำแหน่ง นายกฯ อย่างยาวนาน 22 ปี (ระหว่างปี 2524-2546) ดร.มหาเธร์ ถูกวิจารณ์ว่ามีความคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจ กรณียืนกรานไม่ขอความช่วยทางการเงินจาก ไอเอ็มเอฟ หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ตามแนวทางที่ อันวาร์  (รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจเวลานั้นเสนอคือตัวอย่างหนึ่ง)

ตอนนั้น ดร.มหาเธร์ วัย 72 ปี เลือกใช้วิธีคุมอัตราแลกเปลี่ยน และการไหลเข้าออกของเงินตราต่างประเทศแทน มองต่างมุมของ 2 คนครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นความบาดหมางทางการเมืองอันยาวนานของคนทั้งสอง ก่อนมาถึงจังหวะหักมุม ทั้งคู่ละทิ้งความแค้น หันมาจับมือเป็นพันธมิตรสู้ศึกการเมืองจนได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง เหนือ นาจิบ ราซัก  อดีตนายกฯ ได้ในที่สุด

อีกตัวอย่าง ที่สะท้อนอยู่ในมุมมองข้างต้น คือโครงการรถยนต์แห่งชาติ ซึ่งคล้ายกับมุมมองที่ดร.มหาเธร์ให้ความเห็น ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นว่า อาเซียนควรผลิตใช้เองในภูมิภาคเพื่อเงินตราจะได้ไม่รั่วไหล

มาเลย์เริ่มโครงการผลิตรถยนต์แบรนด์มาเลย์ โปรตอน ในปี พ.ศ.2520 ต่อมา นาจิบ ราซัค อดีตนายกฯ ล้มโครงการโดยเปิดทางให้ทุนจีนเข้ามาครอบงำเนื่องกิจการขาดทุน ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการยุติโครงการรถยนต์แห่งชาติ ของนาจิบคือหนึ่งในเหตุจูงใจให้ ดร.มหาเธร์ หวนกลับมาเล่นการเมืองอีกหรือไม่

ดร.มหาเธร์ นำความหวังมาฝากคนไทยว่า จะช่วยแก้ปัญหาชายแดนใต้ ที่ยืดเยื้อมานานจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เป็นของฝากจากมิตรเก่าที่ต้องติดตามว่าสุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร