Business

กักตัวบนเรือยอชต์ ‘ภูเก็ต’ หวังกู้รายได้ท่องเที่ยว ปี 63 สูญ 3.2 แสนล้าน

กักตัวบนเรือยอชต์ สถานกักตัววิถึใหม่ ชูระบบดิจิทัลเพิ่มเชื่อมั่น หวังดึงกำลังซื้อเศรษฐีเข้าไทย ฟื้นท่องเที่ยวภูเก็ต หลังปี 63 รายได้หดหาย 3.2 แสนล้าน

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย 3 ล้านล้านบาท หนึ่งในขาหลัก ที่สร้างรายได้หลักให้ประเทศไทย แต่จากวิกฤติโควิด-19 ที่ถาโถม ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวหดตัวเหลือ 3.3 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 และกระทบต่อเนื่องถึงปีนี้ ท่ามกลางความพยายามดิ้นรน ฟื้นการท่องเที่ยวในภาวะวิกฤติโควิด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การนำระบบ กักตัวบนเรือยอชต์ มาใช้กับสถานกักตัว

กักตัวบนเรือยอชต์

ก่อนหน้านี้ ภาคการท่องเที่ยว พยายามหากลยุทธ์หลากหลายรูปแบบ เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว ทั้งจากการกระตุ้น ไทยเที่ยวไทย เนื่องจากยังไม่สามารถเปิดรับต่างชาติเข้ามาในประเทศได้

จนกระทั่งนำมาสู่การสร้างรายได้จากสถานกักกัน ซึ่งเป็นสถานที่กักกันทางเลือก ที่ผู้เข้ามายินดีจ่าย ไม่ว่าจะเป็น โฮเทล สเตท ควอรันทีน, กอล์ฟ ควอรันทีน รวมถึง ยอชต์ ควอรันทีน (Yacht Quarantine) หรือ การกักตัวบนเรือยอชต์

โครงการ ยอชต์ ควอรันทีน ประเดิมด้วย การเปิดโครงการแห่งแรกที่จังหวัดภูเก็ต ในปี 2563 เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นตลาดระดับบน การมีท่าเรือยอชต์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของไทย ซึ่งในปี 2563 ภูเก็ต สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่า 320,000 ล้านบาท จากผลกระทบโควิด เนื่องจากภูเก็ต มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว และพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นหลัก

ล่าสุด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) พร้อมด้วย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส, บริษัท พีเอ็มเอชโฮลดิ้ง จำกัด (POMO) กลุ่มผู้ประกอบการบริหารจัดการท่าเรือ และสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย ร่วมมือฟื้นฟูการท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต เปิดตัว “โครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ -Digital Yacht Quarantine” ครั้งแรกในไทยขึ้น เพื่อร่วมฟื้นฟูการท่องเที่ยวภูเก็ต

Pic 19 AIS DEPA POMO

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และสร้างความเสียหายเชิงเศรษฐกิจอย่างมาก

สำหรับโครงการ Digital Yacht Quarantine นับเป็นครั้งแรกในไทย ด้วยแพลตฟอร์มนวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ ผ่านเทคโนโลยี NB-IoT (NB-IoT Wristband Tourist Tracking) เครื่องมือมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพ (Health Monitoring) ของนักท่องเที่ยวระหว่างกักตัว 14 วัน

ทั้งนี้ จะช่วยสร้างความมั่นใจ และเสริมความปลอดภัยด้านสาธารณสุข แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต ทำให้การกักตัวบนเรือยอชต์ ของนักท่องเที่ยว และการทำงานของทีมแพทย์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นางสาวตัญญุตา สิงห์มณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค ซุปเปอร์ยอชท์ จำกัด ตัวแทนสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย (TYBA) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสมาชิกสมาคมฯอย่างหนัก เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากเรือยอชต์ต่างชาติ สูญเสียรายได้มากถึง 50- 60%

Pic 7 AIS NB IoT coverage

ด้านนายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า ในฐานะ Digital Life Service Provider ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งเป็นอันดับ 1 ด้วยเครือข่าย AIS 4G, 5G ที่มีคลื่นมากที่สุด นำมาสู่การสร้างศักยภาพโครงข่าย AIS NB- IoT และนวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ ที่เป็นรูปแบบการกักตัวนักท่องเที่ยว บนเรือยอชต์กลางทะเล ก่อนเดินทางขึ้นบก

สำหรับ เอไอเอส ได้เลือกใช้เครือข่าย Narrow Band IoT ที่รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT บนคลื่น 900 MHz ที่สามารถกระจายสัญญาณออกไปในทะเลได้มากกว่า 10 กม. พร้อมด้วยแพลตฟอร์ม คลาวด์ มาเป็นเครือข่ายหลัก

ระบบดังกล่าว จะเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มนวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ เพื่อมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพ ของนักท่องเที่ยว รวมถึงพิกัดของนักท่องเที่ยว และส่งข้อมูลต่อมายัง แพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยว ได้แบบเรียลไทม์ ในระหว่างกักตัว 14 วันบนเรือ ก่อนเดินทางขึ้นบก เพื่อท่องเที่ยวต่อไป

ขั้นตอนในการให้บริการ Digital Yacht Quarantine

เริ่มจาก เมื่อมีนักท่องเที่ยวประสานเดินทางเข้ามาทางเรือ ทางสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย จะเป็นตัวแทนประสานงาน กับหน่วยงานทางการแพทย์ เพื่อทำการตรวจโรคในครั้งแรก

กักตัวบนเรือยอชต์

พร้อมกันนี้ นักท่องเที่ยวจะสวม สายรัดข้อมืออัจฉริยะ ที่จะส่งตัวเลขสุขภาพของนักท่องเที่ยวทุกคนตลอด 14 วันของการกักตัวเข้ามาที่ Dash Board ณ ที่ทำการ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ

หลังจากที่กักตัวครบ 14 วัน จะมีการนำข้อมูลทั้งหมด มาวิเคราะห์อีกครั้งว่า นักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงโควิด-19 มากน้อยเพียงใด เพื่อสร้างความมั่นใจ ก่อนให้นักท่องเที่ยวเดินทาง ขึ้นฝั่งภูเก็ตต่อไป

นายฉัตรชัย ตั้งจิตตรง ประธานกรรมการ บริษัท พีเอ็มเอช โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ในโครงการนี้ บริษัทได้ใช้ดีไวซ์ 2 รุ่นคือ Activ 10+ และ Smartwatch Active 30+ ที่เป็นทั้ง เครื่องติดตาม และเครื่องมือดูแลสุขภาพ ให้นักท่องเที่ยวใส่ที่ข้อมือติดตัวตลอดเวลา เพื่อติดตาม และเฝ้าระวังป้องกัน การออกนอกพื้นที่

การทำงานของดีไวซ์ จะมีเซนเซอร์อัจฉริยะ ที่สามารถวัดชีพจร ค่าความดัน และวัดอุณภูมิร่างกายของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังสามารถแจ้งสัญญาณ SOS ได้ หากนักท่องเที่ยวเกิดเหตุต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะแสดงไปยัง Dashboard บนเว็บไซต์ แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ส่งต่อความช่วยเหลือ หรือ ให้คำแนะนำได้ตลอดเวลา

กักตัวบนเรือยอชต์

นางสาวตัญญุตา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าว จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และทุกภาคส่วน ให้มีความสบายใจว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับเรือยอชต์นี้ ผ่านการกักตัว ที่ได้รับมาตรฐานจากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการ Yacht Quarantine ในเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา มีสถิติการติดเชื้อโควิดเป็นศูนย์ และนักท่องเที่ยวมีความสุขกับการกักตัวบนเรือ

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภายในปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยว เดินทางเข้าประเทศไทยด้วยเรือยอชต์ ประมาณ 100 ลำ จำนวนนักท่องเที่ยว 300-500 คน

นายธนภัทร ทั่วไตรภพ กรรมการบริหาร บริษัท โฟล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวเสริมว่า โฟล คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมกับบริษัท พัชทรีทัวร์ กรุ๊ป ผู้ได้รับสัมปทานในการบริหารจัดการท่าเทียบเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต ดำเนินการตั้งแต่การให้บริการลงทะเบียน NB-IoT Wristband Tourist Tracking เพื่อให้นักท่องเที่ยวสวมใส่สำหรับกักตัวบนเรือยอชต์ 14 วัน พร้อมจัดทีมแพทย์ขึ้นไปตรวจเชื้อโควิดบนเรือ

นอกจากนี้ จะมีการมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพตลอดเวลา และหลังจากที่กักตัวครบ 14 วัน ก็จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกครั้งว่า นักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงโควิด-19 มากน้อยเพียงใด ก่อนอนุญาตให้เดินทางขึ้นฝั่งภูเก็ต

“ความร่วมมือกันครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ในการท่องเที่ยวในยุคนิวนอร์มัล ที่นอกจากจะยกระดับการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และหมู่เกาะทะเลอันดามันให้มีความทันสมัยและอัจฉริยะมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวพลิกฟื้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย”นายธนภัทร กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo