Business

‘การสื่อสาร’ ขาดหายไป ความท้าทายของ ‘Work from Home’

‘Work from Home’ ในยุคโควิด ผลวิจัยชี้ 81% ของคนทำงาน พร้อมทำงานทางไกลระยะยาว แต่ต้องเผชิญความท้าทาย จากการสื่อสารขาดหายไป

โควิด-19 นำมาซึ่งชีวิตวิถีใหม่ ทั้งเรื่องส่วนตัว และการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือ ทำงานทางไกล สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่หัวหน้างาน หรือผู้ว่าจ้างต้องเตรียมพร้อม คือ การจัดหาเทคโนโลยีที่จำเป็น และรองรับการทำงานด้าน HR เพื่อซัพพอร์ตการทำงานของพนักงาน

Work from Home

ชอง-กิลโยม ปงส์ รองประธาน ไคลอันท์ โซลูชัน กรุ๊ป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ญี่ปุ่น และเกรทเตอร์ ไชน่า เดลล์ เทคโนโลยีส์ เปิดเผยว่า จากผลงานวิจัยของ เดลล์ เทคโนโลยีส์ ที่ได้สำรวจคนทำงานมืออาชีพ มากกว่า 7,000 คนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (APJ) เผยให้เห็นความพร้อมของพนักงาน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (APJ) ที่มีต่อ การทำงานจากทางไกล ในระยะยาว

ทั้งนี้ จากดัชนีความพร้อม ของการทำงานจากระยะไกล หรือ Remote Work Readiness (RWR) Index (RWR) พบว่า 81% ที่สำรวจพนักงานของทั้งภูมิภาค รู้สึกว่า พวกเขาได้รับการเตรียมความพร้อมแล้ว สำหรับการทำงานจากที่บ้าน หรือจากระยะไกลในระยะยาว หากแต่ยังมีความกังวลอยู่บ้าง ในกรณีของเส้นแบ่ง ของการทำงาน และชีวิตส่วนตัว ที่ดูจะยังไม่ชัดเจน

วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น ในปี 2563 ได้กำหนดรูปแบบการทำงานขึ้นใหม่ ทำให้ไม่ต้องยึดติดกับเวลา และสถานที่ในการทำงานอีกต่อไป การเตรียมความพร้อมในการทำงาน ทั้งในรูปแบบทางไกล (remote) และในแบบผสมผสานกันแบบไฮบริด กำลังกลายเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น (new reality)

Dell Technologies

จากการวิจัย พบว่า เจ้าของธุรกิจ หรือผู้ว่าจ้าง มีหน้าที่อย่างไม่หยุดยั้ง ในการทำความเข้าใจ เกี่ยวกับความท้าทาย ที่พนักงานต้องพบเจออย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็น สำหรับการทำงานจากทางไกลหรือ remote work ให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว

นอกจากนี้ มีพนักงาน 50% จากการสำรวจที่รู้สึกว่า ผู้ว่าจ้างทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้แล้ว ในการให้การสนับสนุนการทำงาน และในช่วงที่อยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการควบคุมโรคระบาด พนักงานที่ตอบแบบสำรวจ กล่าวอ้างถึงความไม่เสถียร ของระบบเครือข่ายทางไกล (remote networks) รวมถึงข้อจำกัดในด้านแบนด์วิธของอินเทอร์เน็ต (31%) คือ ความท้าทายด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุด

นอกจากนี้ พนักงานยังประสบปัญหา ในการเข้าถึงทรัพยากรภายในของบริษัท (29%) และยังต้องจัดการกับการใช้เครื่องมือหรือทูลส์เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพส่วนตัว (28%) ในการทำงาน

ด้วยเหตุนี้ พนักงานจึงระบุว่า ต้องการให้ผู้ว่าจ้าง ช่วยจัดหาอุปกรณ์ หรือเครื่องมือ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (39%) และต้องการความมั่นใจว่า พวกเขาจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรภายใน ของบริษัทได้ (36%)

ในแง่ของการสนับสนุน ด้านทรัพยากรบุคคล การสำรวจกลุ่มพนักงาน ภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและญี่ปุ่นระบุว่า ความท้าทายในอันดับต้น คือ การขาดหายไป ของการสื่อสารระหว่างบุคคล (in-person communications) (41%)

ขณะที่ความท้าทายที่สำคัญอื่น ๆ ยังรวมถึงการขาดช่วงเวลา ในการเรียนรู้และพัฒนา รวมทั้งการเทรนนิ่งสำหรับทูลส์แบบเวอร์ชวล (39%) นอกจากนี้ ยังเกี่ยวเนื่องกับ แนวการปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practice) ในด้าน การทำงานระยะไกล และแนวนโยบาย ตลอดจนแนวทางที่ล้าสมัย สำหรับการทำงานระยะไกล (38%)

ดังนั้น เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ในการจัดการงานจากระยะไกลในระยะยาว พนักงานที่ร่วมในการสำรวจต้องการเซสชัน เพื่อการเรียนรู้และพัฒนา ตลอดจนการฝึกอบรม การใช้เวอร์ชวล ทูลส์ (48%) การฝึกอบรมด้วยแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด สำหรับ การทำงานระยะไกล (47%) และแนวคิดริเริ่ม ด้านการมีส่วนร่วมของทีม (46%)

“ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความเป็นผู้นำ และวัฒนธรรม ในการช่วยให้พนักงานและทั้งหมด สามารถยืนหยัดผ่านอุปสรรคไปได้ คือ ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ในการช่วยให้ทีมงานสามารถทำงานได้อย่างดีที่สุด” ปงส์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo