COLUMNISTS

‘เทรนด์ธุรกิจ’ หลังยุคโควิด-19 สู่ New Business Normal (ตอน 2)

Avatar photo
ซีอีโอ บริษัท มาร์เก็ตติ้งไดอ๊อกไซด์ จำกัด
11979

การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล เป็นแนวโน้มธุรกิจ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในหลายด้านด้วยกัน

ประการแรกคือ ผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยลูกค้าไม่สามารถออกจากบ้านได้ หากธุรกิจไม่มีช่องทางดิจิทัลมารองรับ จะขายสินค้าไม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่ลูกค้าจะต้องไปซื้อสินค้าที่ร้านเท่านั้น จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

shutterstock 558653926

เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงไปใช้แพลตฟอร์มส่งอาหารของร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ หรือการที่ธุรกิจและร้านค้าจำนวนมาก ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก ออกมาทำการตลาด ผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ในช่วงโควิด ยังรวมถึงการใช้มือถือที่มากขึ้น ช่องทางการเสพข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไป ความนิยมในการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น

ผลกระทบอีกประการของ โควิด-19 คือ ทำให้พฤติกรรมภายในองค์กรเปลี่ยนแปลงไป โดยพนักงานทำงานลำบากมากขึ้น ถ้าไม่สามารถทำงานแบบรีโมทได้ จะได้รับผลกระทบ

องค์กรจึงปรับตัวโดยให้พนักงานใช้โน้ตบุ๊กมากขึ้น ปรับเปลี่ยนให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ผ่านระบบออนไลน์ รวมไปถึงความพยายามลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ เช่น การใช้ Software as a Service ที่จ่ายค่าบริการเป็นรายเดือน เดือนไหนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ก็หยุด เป็นการลดต้นทุน เพื่อประคับประคองสถานการณ์การเงินขององค์กรให้อยู่รอด

จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้ทุกธุรกิจต่างมีความจำเป็น ที่จะต้องปรับรูปแบบองค์กร สู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น โดยแนวโน้มดังกล่าว เกิดขึ้นในเกือบทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่การค้าปลีก การดูแลสุขภาพ การบริการและการศึกษาต่างๆ

technologysocial media ๒๑๐๑๒๒

การปรับตัวของธุรกิจ ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการทำงานของทุกคน ตั้งแต่ระดับผู้นำองค์กรที่จะต้องตระหนักถึงความสำคัญ ของการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ และมีความรู้ความเข้าใจ ในการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงตลาด ลูกค้า และหุ้นส่วนธุรกิจได้ดีขึ้น

การให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลจากลูกค้า ตลาด การทำธุรกรรม บริการ สินค้า และสินทรัพย์ มาใช้ต่อยอด และใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ โดยต้องถือว่า ข้อมูล คือ สินทรัพย์และปัจจัยการผลิตชนิดหนึ่ง

การปรับรูปแบบการทำงาน สู่ความเป็นองค์กรดิจิทัล ยังรวมไปถึงการสร้างความร่วมมือ ระหว่างพนักงานประจำ พนักงานพาร์ทไทม์ พนักงานสัญญาจ้าง พนักงานฟรีแลนซ์ และพนักงานของคู่ค้าธุรกิจต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความยืดหยุ่นในการทำงาน ทั้งภายในและภายนอกขององค์กร จนทำให้บรรลุถึงเป้าหมายทางธุรกิจ ด้วยการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับทุกฝ่าย

อ่านข่าวเพิ่มเติม