Lifestyle

เช็คหลักฐาน 5 อย่าง ก่อนเข้าคลินิก ป้องกันหลงกล ‘หมอเถื่อน’

เช็คหลักฐาน 5 อย่าง เรื่องสำคัญ ก่อนตัดสินใจรับบริการทางการแพทย์ กรม สบส. แนะวิธเสริมภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ คลินิก หมอเถื่อน

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะในคลินิก แค่สละเวลาเล็กน้อย เช็คหลักฐาน 5 อย่าง ที่สถานพยาบาลต้องมี ก็สามารถป้องกันตนเอง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ของคลินิกเถื่อน หรือหมอเถื่อน ได้แล้ว

คลินิกเถื่อน

ทั้งนี้เนื่องจาก กรณีการจับกุมอดีตบุรุษพยาบาล วัย 41 ปี ซึ่งแอบสวมรอยเป็นแพทย์ ลักลอบให้บริการ ฉีดสารเสริมความงาม อาทิ ฟิลเลอร์/โบท็อกซ์ จนมีผู้ได้รับผลกระทบหลายราย ทั้งเกิดอาการอักเสบ ติดเชื้อ หรือในบางรายถึงขั้นตาบอดสนิท เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นั้น

ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนต่างให้ความสำคัญ กับสุขภาพและรูปลักษณ์ ย่อมมีผู้ไม่ประสงค์ดี นำกระแสนิยมดังกล่าว มาตักตวงผลประโยชน์ โดยไม่คิดถึงผลกระทบที่จะเกิด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดคลินิกเถื่อน ให้บริการรักษาพยาบาล เสริมความงาม ทั้งที่ไม่ใช่แพทย์ จนมีผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งจากการติดเชื้อ แผลเน่า ใบหน้าผิดรูป ตาบอด หรืออันตรายถึงแก่ชีวิต

แม้ว่ากรม สบส.จะมีการดำเนินงานเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ไขข้อกระจ่าง และให้ความเป็นธรรม แก่ผู้ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยเพียงการกวดขันของภาครัฐ เพียงฝ่ายเดียว อาจจะไม่เพียงพอ จะต้องมีการสร้างเสริมความรู้ แก่ประชาชน ให้เป็นภูมิคุ้มกัน จากอันตรายดังกล่าวด้วย

shutterstock 1104935849

สำหรับหลักฐานทั้ง 5 อย่าง ที่ต้องเช็ค ก่อนเข้ารับบริการ ประกอบด้วย

  • ป้ายชื่อคลินิก ต้องแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก
  • มีการแสดงใบอนุญาต เปิดกิจการคลินิก เลขใบอนุญาต ต้องตรงกับเลขที่ ที่ติดที่ป้ายชื่อคลินิก
  • มีการแสดงใบอนุญาต ให้ดำเนินการสถานพยาบาล ซึ่งต้องมีการระบุ ชื่อผู้ประกอบวิชาชีพ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ และต้องมีความเป็นปัจจุบัน
  • มีการแสดงหลักฐาน การชำระค่าธรรมเนียมคลินิก ที่เป็นปีปัจจุบัน
  • มีการแสดงหลักฐานของแพทย์ ที่ให้บริการในคลินิก โดยมี ชื่อ-นามสกุล และภาพถ่าย ติดที่หน้าห้องตรวจ

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบชื่อคลินิก ได้ที่เว็บไซต์ กองสถานพยาบาล และการประกอบโรคศิลปะ (www.mrd-hss.moph.go.th) และตรวจสอบชื่อแพทย์ได้ที่ เว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th)

หากพบว่าสถานพยาบาล มีหลักฐานที่ต้องแสดงครบถ้วน ก็สามารถมั่นใจได้ว่า จะได้รับบริการจากสถานพยาบาลที่ถูกต้อง และได้มาตรฐาน ตามที่กฎหมายกำหนด แต่หากไม่พบหลักฐานข้างต้น หรือขาดหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่ควรรับบริการโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ กรม สบส.ขอเชิญชวนประชาชน มาร่วมเป็นหูเป็นตา ในฐานะเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค หากพบเห็น เบาะแสการกระทำผิดของ คลินิกเถื่อน หมอเถื่อน ให้ใช้สมาร์ทโฟน เก็บภาพไว้เป็นหลักฐาน

กรณีอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ให้แจ้งมาที่สายด่วน กรม สบส. 1426 แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาค สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อนำตัวผู้กระทำผิด มาดำเนินการ ตามกฎหมายต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo