Politics

ด่วน!! ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติปมอำนาจรัฐสภาแก้รธน. 11 มี.ค.นี้

ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมประชุมพิจารณาคำร้องประธานรัฐสภาเรื่องอำนาจรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนัดฟังคำวินิจฉัย 11 มีนาคม เวลา 9.30 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการพิจารณาคำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) และศาลรัฐธรรมนูญได้รับหนังสือความเห็นจากพยานผู้เชี่ยวชาญ 4 คน คือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต รวมทั้งหนังสือความเห็นของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง และคณะที่ยื่นคำร้องขอส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นแล้ว

ศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าแม้คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งที่ประชุมของรัฐสภามีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยและประธานรัฐสภาส่งเรื่องต่อศาล มิใช่การกระทำของสมาชิกรัฐสภาเป็นรายบุคคล แต่เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาของศาลจึงสั่งรับไว้เพื่อประกอบการพิจารณา

โดยศาลได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่งและกำหนดนัดด้วยวาจา ปรึกษาหารือและลงมติในวันที่ 11 มีนาคม เวลา 9.30 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญให้ผู้เกี่ยวข้องคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำความเห็นเป็นหนังสือ ต่อกรณีปัญหาดังกล่าว เสนอต่อศาลเพื่อมาประกอบการวินิจฉัย รวมทั้งคาดจะมีการพิจารณาคำร้องของพรรคฝ่ายค้าน ที่ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำ และความเห็นต่อศาล เป็นข้อมูลรวม 7 หน้า เพื่อยืนยันว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) บัญญัติไว้ชัดเจน ว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ประเด็นที่ทำให้ประธานรัฐสภา ต้องส่งเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นกรณีสมาชิกรัฐสภามีความเห็นต่างกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่ากรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่าง หรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นสามารถทำได้ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2562 ไม่ได้กำหนดให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติ เพียงให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็คือการแก้ไขเป็นรายมาตราเท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo