Business

นีลเส็น เผยผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ‘Newly constrained’ สูญเสียจากโควิด แนะแบรนด์รับมือด่วน

นีลเส็น เผยผู้บริโภคกลุ่มใหม่ “Newly constrained” เพิ่มขึ้น 2 เท่าทั่วโลก จาก 23% เป็น 46% หลังโควิดกระทบวงกว้าง ในไทยสูงถึง 73% แบรนด์ต้องปรับรับมือ

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วทุกมุมโลก นีลเส็น เผยผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ที่เกิดขึ้น 4 กลุ่ม จากยุคโควิด ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการจับจ่าย ซื้อสินค้าและบริการ นับจากนี้ ที่แบรนด์ต้องปรับตัวเตรียมรับมือ

นีลเส็น เผยผู้บริโภคกลุ่มใหม่

จากผลสำรวจล่าสุดของ นีลเส็นไอคิว พบว่า ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มใหม่นี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และถึงแม้ว่าจะมีข่าวดีเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน กลุ่มผู้บริโภคที่เกิดขึ้นใหม่นี้ จะแสดงให้เห็นว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ สำหรับอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค

จำนวนของผู้บริโภคกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “Newly constrained” จากการสำรวจจากทั่วโลก พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 23% เป็น 46% ภายในระยะเวลาสี่เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคม

ตามคำจำกัดความ ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบกลุ่มใหม่เหล่านี้ ประสบปัญหารายได้ครัวเรือนที่ลดลง หรือมีสถานการณ์ทางการเงินแย่ลง ทำให้พวกเขาต้องเฝ้าระวังการใช้จ่าย และในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนการเยียวยาในบางประเทศได้สิ้นสุดลง ตัวเลขเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงที่จะเพิ่มสูงขึ้น

ในปี 2563 นีลเส็นไอคิวได้แบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ไว้สองกลุ่ม โดยกลุ่มแรกเรียกว่า “Constrained” คือผู้บริโภคที่สูญเสียงาน และ “Insulated” กลุ่มผู้บริโภคที่ยังคงมีงานทำและรู้สึกมั่นคง

นิยมผู้บริโภค

แต่จากการสำรวจในเดือนธันวาคม 2563 พบว่า สถานการณ์และความตั้งใจของผู้บริโภค เกี่ยวกับการใช้จ่ายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และจำเป็นต้องมีการแบ่งเพิ่มเติม ซึ่งแยกออกมาได้ 4 กลุ่มผู้บริโภค และคาดว่านิสัยใหม่ ๆ ของพวกเขาจะแตกต่างอย่างมาก เมื่อเทียบกับปี 2563

ผู้บริโภค 4 กลุ่มใหม่ ประกอบด้วย

Existing Constrained คือ ผู้บริโภคที่เฝ้าระวังในเรื่องการใช้จ่ายตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19 และปัจจุบันก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ในประเทศไทยมีจำนวน 14%

Newly Constrained คือ ผู้บริโภคที่ประสบปัญหารายได้ครัวเรือน หรือมีสถานการณ์ทางการเงินที่แย่ลง และคอยเฝ้าระวังในเรื่องการใช้จ่าย ในประเทศไทยมีจำนวน 73%

Cautious Insulated คือ ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบในรายได้ หรือสถานการณ์ทางการเงินเพียงเล็กน้อย แต่เฝ้าระวังในเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ในประเทศไทยมีจำนวน 13%

Unrestricted Insulated คือ ผู้บริโภคที่มีรายได้ หรือสถานการณ์ทางการเงินเท่าเดิมหรือดีขึ้น และไม่รู้สึกว่าจำเป็นจะต้องเฝ้าระวังในเรื่องการใช้จ่าย

จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่ามีผู้บริโภคชาวไทยที่เฝ้าระวังในเรื่องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 86% ขณะเดียวกัน ข้อมูลยังเปิดเผยถึงความกังวลในอนาคตโดย 48% ของผู้บริโภคชาวไทยกล่าวว่า พวกเขารู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในการสร้างรายได้ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า

วิธีการรับมือของผู้บริโภคชาวไทย

ในขณะที่อุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค (FMCG) เป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมที่เติบโตในหลายๆ ประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา แต่การเติบโตอย่างยอดเยี่ยมในอัตราเดิมไม่น่าจะเป็นไปได้ในปีนี้

ผู้บริโภคทั้ง 4 กลุ่มที่แบ่งออกมานั้น บ่งชี้ไปยังประชากรส่วนใหญ่ โดยกว่า 70% ของผู้บริโภคทั่วโลกที่ทำการสำรวจ เริ่มเฝ้าระวังในเรื่องการใช้จ่าย แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถใช้จ่ายได้อย่างอิสระ

สภาพแวดล้อมการใช้จ่ายที่ระมัดระวังนี้หมายความว่า แบรนด์ต่าง ๆ จะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก กับความต้องการที่เกิดขึ้นใหม่ของผู้บริโภคกลุ่มนี้ การจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์ ราคา นวัตกรรม และการจัดจำหน่ายจำเป็นต้องมีการปรับใหม่ และต้องทำอย่างรวดเร็ว

สำหรับประเทศไทย 83% ของผู้บริโภคกล่าวว่า พวกเขาเปลี่ยนวิธีการซื้อในหลาย ๆ หมวดหมู่สินค้าและแบรนด์ ซึ่งมีผลอย่างมากต่อผู้ผลิตและผู้ค้าปลีก

ผู้บริโภคไทยจำนวนมาก ใช้กลไกการรับมือแบบใหม่ เพื่อจัดการค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดย 49% กล่าวว่า พวกเขาซื้อสินค้าโดยดูจากโปรโมชั่นเพียงอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงแบรนด์

ขณะที่ 34% กล่าวว่า พวกเขาซื้อสินค้าที่มีราคาถูกที่สุด และ 43% มักจะมองหาสินค้าตราห้าง (Private brand) เพื่อความประหยัด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศไทย จะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบสูงที่สุดจากทั่วโลก แต่ความภักดีต่อแบรนด์ ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงที่สุดเช่นกัน โดยมากกว่าครึ่ง (67%) กล่าวว่าพวกเขาภักดีต่อแบรนด์ และจะเปลี่ยนแบรนด์ก็ต่อเมื่อราคาเพิ่มสูงขึ้นจากราคาปกติ (63%)

ผู้บริโภคส่วนใหญ่ คิดและพิจารณา ถึงการซื้อสินค้าของพวกเขา โดยดูว่า สิ่งที่จะซื้อมีความจำเป็นหรือสำคัญและคุ้มค่าคุ้มราคาหรือไม่ ซึ่ง 94% ของผู้บริโภคชาวไทยกล่าวว่า พวกเขาจะยังคอยมองหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยประหยัดเงินในปี 2564

เมื่อพูดถึงการใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภค 45% ของผู้บริโภคชาวไทยกล่าวว่า หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแย่ลง พวกเขาจะใช้จ่ายกับสินค้าอุปโภคบริโภคน้อยลง ในขณะที่ 12% จะใช้จ่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้บริโภคชาวไทย 95% ต้องการความหลากหลายในสินค้าคุณภาพมากขึ้น 91% ยินดีที่จะซื้อโดยตรงจากผู้ผลิต และ 81% ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อคุณภาพที่สูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีอัตราที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo