COVID-19

โรงพยาบาลเอกชน แห่นำเข้าวัคซีน เพิ่มทางเลือกคนมีเงิน ไม่รอของฟรี

โรงพยาบาลเอกชน เร่งขอ อย. ฉีดวัคซีนเพิ่มทางเลือกคนไม่อยากรอ เผยทั้ง เครือธนบุรี รามคำแหง เกษมราษฏร์ กรุงเทพ เตรียมความพร้อม รอแค่อย.อนุมัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่รัฐบาลเปิดไฟเขียว โรงพยาบาลเอกชน สามารถนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยมีเงื่อนไข ต้องยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีน กับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ถูกต้อง ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชน เร่งนำเข้าวัคซีนจากผู้ผลิตระดับโลก กันอย่างคึกคัก

โรงพยาบาลเอกชน

ขณะที่ทาง อย. จะพิจารณาตรวจสอบวัคซีน ที่จะขอนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะต้องได้รับการประเมินก่อนนำไปใช้จริง โดยทาง อย.จะประเมินทั้งในด้านคุณภาพ ด้านความปลอดภัย และด้านประสิทธิผลของวัคซีน ว่าเหมาะสมกับคนไทย โดยผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนจะต้องแสดงข้อมูลเอกสารหลักฐานเพื่อประเมินคุณสมบัติของวัคซีนทั้ง 3 ด้านดังกล่าว

นอกจากนี้ อย. ยังได้ปรับกระบวนการทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวก ในการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 อย่างเต็มที่ ด้วยการระดมเพิ่มผู้เชี่ยวชาญ ทั้งภายในและภายนอก มาร่วมพิจารณา เพื่อให้สามารถอนุมัติวัคซีนได้โดยเร็วที่สุด แต่ยังคงไม่สามารถผ่อนคลายกฎเกณฑ์ หรือลดหย่อนการกำกับดูแล เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า วัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จะเป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ที่จะต้องมีระบบการกำกับติดตาม เฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้รับอนุญาตนำเข้าต้องรับผิดชอบหากเกิดผลกระทบต่อประชาชน

covidmain

จากการสำรวจสถานการณ์วัคซีนโควิด พบว่า ห้องแล็บชื่อดังทั่วโลก กำลังแข่งขันเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 แล้วประมาณ 100 ชื่อ แต่ที่ผลิตสำเร็จและจำหน่ายแล้วมีเพียง 6 ชื่อ ได้แก่

  • ไฟเซอร์ จากสหรัฐ ประสิทธิผล 95% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน
  • โมเดอร์นา จากสหรัฐ ประสิทธิผล 94.5% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 28 วัน
  • แอสตราเซนเนกา จากอังกฤษ ประสิทธิผล 62-90% ฉีด 2 โดสห่างกัน 28 วัน
  • สปุตนิค วี จากรัสเซีย ประสิทธิผล 92% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 14-21 วัน
  • ซิโนฟาร์ม จากจีน ประสิทธิผล 79% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน
  • ซิโนแวค จากจีน ประสิทธิผล 62-78% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 28 วัน

สำหรับโรงพยาบาลเอกชน ที่เริ่มยื่นเอกสาร เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าวัคซีนโควิด-19 ไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อาทิ มีกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี, รามคำแหง, กลุ่มบีดีเอ็มเอส หรือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์

วัคซีนโควิดรพ 0.สนาม ๒๑๐๒๒๗

อย่างไรก็ตาม หลังจาก อย. ตรวจสอบและอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าแล้ว ทางผู้ขอนำเข้า ต้องติดต่อไปที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อนำเอกสารต่าง ๆมายื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนจาก อย.อีกครั้ง และเมื่อวัคซีนดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว จากนั้นก็จะสามารถนำเข้ามาให้บริการได้ โดยคาดว่า จะเริ่มขึ้นทะเบียนได้ประมาณเดือนเมษายน เป็นต้นไป

ขณะที่ ราคาวัคซีน เมื่อรวมค่าขนส่ง ค่าบริการ แล้ว คาดว่าจะตกประมาณ 2,000-3.000 บาท ต่อโดส ขึ้นอยู่กับการเจรจา และเงื่อนไขของแต่ละบริษัท ซึ่งจากการที่โรงพยาบาลหลายแห่ง เริ่มสำรวจความต้องการของลูกค้าโรงพยาบาล  พบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ มีความพร้อมที่จะจ่ายเงิน โดยไม่รอรัฐบาล โดยจะพิจารณาจากยี่ห้อวัคซีนที่มั่นใจในประสิทธิภาพ เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ไม่จำเป็นต้องขอขึ้นทะเบียน เป็นผู้นำเข้า เนื่องจากสามารถใช้วิธีซื้อจากโรงพยาบาล หรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้า เพื่อมาฉีดให้กับลูกค้าได้เลย เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ผ่านการขออนุญาตมาแล้ว

ดังนั้น จากกระแสความต้องการของลูกค้า ที่มีทั้งประชาชนทั่วไป และกลุ่มภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมรับการผ่อนคลายมาตรการ ต้อนรับนักท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสของโรงพยาบาลเอกชน ที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากบริการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับคนที่มีความพร้อม นั่นเอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo