COVID-19

แจงสาเหตุ ‘ผู้สอบบัญชี’ ไม่แสดงความเห็นงบ ‘การบินไทย’ ปัดปมถูกผู้บริหารสกัด

“การบินไทย” ร่อนหนังสือชี้แจง 3 สาเหตุ “ผู้สอบบัญชี” ไม่แสดงความเห็นงบการเงินปี 2563 ปัดปมถูกผู้บริหารสกัด

วันนี้ (3 มี.ค.) นายชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ส่งหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชี้แจงรายงานผู้สอบบัญชีกรณีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน สำหรับปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ดังนี้

ตามที่บริษัท การบินไทย ได้นำส่งงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ของบริษัท ซึ่ง ผู้สอบบัญชี ได้ตรวจสอบและรับรองงบการเงิน โดยไม่แสดงความเห็นด้วยเหตุที่ ได้พิจารณาสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อการดำเนินงานของบริษัทดังต่อไปนี้

การบินไทย ผู้สอบบัญชี

1.การขาดสภาพคล่องทางการเงินและการผิดนัดชำระหนี้

ฐานการเงินของกลุ่มบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 กลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 281,845 ล้านบาท และมีผลขาดทุนเกินทุนจำนวน 128,665 ล้านบาท  ในงบการเงินรวม และบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนจำนวน 278,878 ล้านบาท และมีผลขาดทุนเกินทุนจำนวน 127,236 ล้านบาท โดยกลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2556 จนส่งผลให้กลุ่มบริษัทและบริษัทมีผลขาดทุนเกินทุนและขาดสภาพคล่องทางการเงิน

ในไตรมาส 2 ปี 2563 การบินไทย เข้าสู่สภาวะการพักชำระหนี้จากการที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นเหตุให้บริษัทเข้าเงื่อนไขของการผิดนัดชำระหนี้สินที่คงค้างและผิดนัดชำระหนี้สินที่ทยอยถึงกำหนดชำระ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหนี้การค้า เงินกู้ยืมระยะสั้น เงินกู้ยืมระยะยาว หุ้นกู้ และหนี้สินตามสัญญาเช่า การชำระหนี้สินคงค้างที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี ขึ้นกับการยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้และความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ

ผลประกอบการ การบินไทย ย้อนหลัง 2563 (อัพเดท)
ผลประกอบการย้อนหลัง “การบินไทย” (อัพเดท)

2.ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปัจจุบันได้ขยายวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ มีผลกระทบต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจการบิน โดยตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 และวันที่ 25 มีนาคม 2563 บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ได้เปิดให้บริการเที่ยวบินในประเทศตามเส้นทางเดิม โดยมีการพิจารณาเพิ่มและลดเที่ยวบินตามความต้องการของผู้โดยสาร รวมทั้งเพิ่มเส้นทางใหม่ในประเทศ

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทได้เปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศบางส่วน รวมถึงเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ส่วนการพิจารณาให้บริการการบินเส้นทางต่างประเทศตามปกติในเชิงพาณิชย์ จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแผนการบิน ฐานะการเงิน ความสามารถในการสร้างรายได้ และกระแสงินสดในปัจจุบันและในอนาคตของกลุ่มบริษัท

3.การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 โดยศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 และกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ต่อมาในวันที่ 14 กันยายน 2563 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งผู้ทำแผนตามที่บริษัทเสนอ

ในปัจจุบัน การบินไทย อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการและคณะผู้ทำแผนอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อขอความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ อย่างไรก็ตามคณะผู้ทำแผนได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอขยายระยะเวลาการส่งแผนฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาส่งแผนฟื้นฟูกิจการถึงวันที่ 2 มีนาคม 2564

ทั้งนี้ แผนธุรกิจของบริษัท รวมถึงแผนการบินและความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัทมีองค์ประกอบในการบริหารธุรกิจหลายด้าน รวมถึงการพิจารณาลงมติขอรับแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้ ความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการและความสามารถในการประกอบธุรกิจต่อไปของบริษัท

shutterstock 1694962276

“การบินไทย” ปัดปมผู้บริหารเตะสกัด

การบินไทย ใคร่ขอเรียนชี้แจงว่า การที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินรวมของบริษัทและบริษัทย่อย และงบการเงินเฉพาะกิจของบริษัทสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหาร หรือการไม่สามารถหาหลักฐานการตรวจสอบงบการเงินได้ แต่เกิดจากผลกระทบต่อความไม่แน่นอนตามสถานการณ์ดังหัวข้อ 1 ถึง 3 ข้างต้น ซึ่งการเข้าสู่ศาลล้มละลายกลางเป็นกระบวนการตามปกติของการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย สำหรับกิจการที่ยังมีโอกาสในทางธุรกิจที่จะดำเนินงานต่อไปได้ในระยะยาว

ในส่วนการดำเนินงานตามปกติที่หยุดทำการชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 นั้น การบินไทย ยังคงมีแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ในหลายด้าน เช่น การขนส่งสินค้า บริการด้านภัตตาคาร การให้บริการเที่ยวบินพิเศษในการรับคนไทยและต่างชาติกลับประเทศ (Repatriation) และบริการภาคพื้นอื่นๆ อยู่ ซึ่งเมื่อสถานการณ์ทั่วโลกดีขึ้น หรือกลับเป็นปกติ บริษัทก็จะกลับมาดำเนินการเต็มรูปแบบต่อไปภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo