Economics

กกร.มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยดีขึ้น คาดขยายตัวกรอบ 1.5-3.5%

กกร. ชี้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่เริ่มดีขึ้น คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ในกรอบ 1.5 – 3.5% ส่วนส่งออกคาดขยายตัว 3 – 5%

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จัดการประชุมประจำเดือนมีนาคม 2564 โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยเป็นประธานร่วม

โดยที่ประชุม กกร.มีความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยปรับตัวดีขึ้น หลังจากกลับมาผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ได้อีกครั้ง จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันลดลงตามลำดับ และการเริ่มฉีดวัคซีนในประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และภาคธุรกิจ

กกร.
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ การส่งออกของไทย ที่ไม่รวมทองคำ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในหลายสินค้า สะท้อนอุปสงค์ในตลาดโลกที่เติบโต ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังหลังผ่อนคลายมาตรการ
  2. การกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
  3. มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมไปถึงการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประเทศเหล่านั้น มีอัตราการฉีดวัคซีน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทำให้หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค เป็นผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม เริ่มปรับดีขึ้น ตลอดจนเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่าง ๆ

โดยเฉพาะเครื่องชี้ภาคการผลิต ที่มีทิศทางดีขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่อาจส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ ตลอดจนความคืบหน้าในการส่งมอบวัคซีนและประเด็น vaccine passport ซึ่งจะปลดล็อคเรื่องของการเดินทางระหว่างประเทศต่อไป

เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และภาพของสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่เริ่มดีขึ้น ขณะที่ทางการก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ไปพร้อมกับความคาดหวังต่อการกระจายวัคซีนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงมาตรการภาครัฐที่สามารถบรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจและกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นได้

ที่ประชุม กกร.จึงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% ถึง 3.5% ประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 3.0% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8% ถึง 1.0%

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกร.มีข้อเสนอถึงภาครัฐ ดังนี้

  • เสนอภาครัฐเร่งเปิด Travel Bubble กับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ถึงปานกลางเพื่อเปิดโอกาสให้ นักท่องเที่ยว นักธุรกิจที่มี Vaccine passport เข้ามาในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • เร่งรัดให้ภาครัฐจัดซื้อวัคซีนให้มากขึ้น จากหลาย ๆ แหล่งทั่วโลก เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนคนไทยทั้งหมด แรงงานต่างด้าว นักธุรกิจต่างประเทศที่อยู่ในไทย และให้ อย. อนุมัติวัคซีน ที่มีนำเข้าแล้วให้ผ่านเกณฑ์เร็วขึ้น
  • ขอให้ภาครัฐอนุญาตให้ภาคเอกชนซื้อวัคซีนเอง เพื่อแบ่งเบาภาระภาครัฐและช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น จะได้ช่วยให้ประเทศฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว
  • ขอให้ภาครัฐให้ความสำคัญในการเร่งรัด การแก้ไขกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค์ในการทำธุรกิจ (Regulatory Guillotine) และเร่งตั้งหน่วยงาน เพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชนในการแก้ไข โดยการศึกษาพบว่าถ้าประเทศไทยมีการแก้ไขได้รวดเร็วจะช่วยให้เพิ่ม GDP ของประเทศได้อย่างมาก

ผยง ศรีวณิช ุภ

ด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจของสมาคมธนาคารไทย “ปรับปรุง ฟื้นฟู เปลี่ยนแปลง” ที่ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ได้แก่ “โครงการพักทรัพย์ พักหนี้” โดยให้ผู้ประกอบการ ที่ยังมีศักยภาพ และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง สามารถลดภาระทางการเงินได้ชั่วคราว

ด้วยการโอนทรัพย์ไว้กับธนาคารโดยมีสัญญาซื้อคืน เพื่อรอการฟื้นตัวของธุรกิจ โดยไม่สูญเสียกิจการไป เบื้องต้นมีเงื่อนไขว่า จะต้องไม่เป็น NPL ก่อน มกราคม 2563, มาตรการฟื้นฟูโดยเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้กับธุรกิจธุรกิจ รองรับการกลับมาดำเนินธุรกิจแบบปกติ ซึ่งเอกชนมีการพูดคุยกันว่า อัตราดอกเบี้ยไม่ควรเกินอัตราดอกเบี้ยโครงการซอฟท์โลนที่ 2%

อย่างไรก็ตาม อยู่ระหว่างการหาข้อสรุป และมาตรการการเปลี่ยนแปลง คือ การใช้ e-Invoicing บน Platform โดยให้มีมาตรฐานกลางทั้งในเรื่องรูปแบบของ Invoice ระยะเวลาที่เหมาะสมของ Credit Terms ซึ่งจะรวมถึงการร้องเรียน และการคืนสินทรัพย์ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย คาดว่า ภายในสองเดือนนับจากนี้จะได้ข้อสรุปซึ่งจะต้องนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อน จะประกาศใช้ตามกฎกระทรวงคลัง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo