The Bangkok Insight

เปิดอาณาจักร 1.6 แสนล้าน ‘คิง เพาเวอร์’

เปิดอาณาจักร 1.62 แสนล้าน ของ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” แห่ง “คิง เพาเวอร์”

vichai2

“วิชัย ศรีวัฒนประภา” (รักศรีอักษร) เป็นมหาเศรษฐีแถวหน้าของไทย ตามการจัดอันดับของนิตยสารฟรอบส์ “วิชัย” เป็นมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดเป็นลำดับที่ 5 ของไทยมีทรัพย์สินทั้งหมดกว่า 4.9 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.62 แสนล้านบาท (ข้อมูลปี 2560) โดยมีธุรกิจหลักคือ กิจการร้านค้าปลอดภาษี ในกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ธุรกิจโรงแรม ร้านค้าปลอดภาษีในต่างประเทศ ที่กัมพูชา และฮ่องกง และเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้

ผลประกอบการ “คิง เพาเวอร์” เติบโตมาตลอด ล่าสุดได้ประกาศยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจใน 5 ปี (2560 – 2564) ภายใต้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายยอดขาย 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขยอดขายดังกล่าว จะทำให้ “คิง เพาเวอร์” ติดท็อป 5 ในธุรกิจปลอดภาษีระดับโลก จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 7

thumbnail King Power 7 1

อาณาจักรธุรกิจ ร้านค้าปลอดภาษีของ “คิง เพาเวอร์” เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2532 ด้วยการก่อตั้งบริษัท เจ.เอ็ม.ที.กรุ๊ป จำกัด ก่อนจะเปลี่ยนเป็นบริษัท คิงเพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด รับสัมปทานจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) จำหน่ายสินค้าปลอดภาษี ภายในท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพ (ดอนเมือง) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ ในปี 2536 ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีเพียงผู้เดียวในประเทศไทย

ก่อนหน้านั้นในปี 2534 ได้ขยายการดำเนินธุรกิจไปต่างประเทศ ในนามบริษัท ททท. จำกัด(พนมเปญ) รับสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีที่ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญควบคู่ไปด้วย

ธุรกิจดิวตี้ฟรี หรือ ร้านค้าปลอดภาษีของ คิง เพาเวอร์ มีทั้งร้านที่บริการในสนามบิน และร้านดิวตี้ฟรีดาวน์ทาวน์ในเมือง โดยในปี 2537 ได้เปลี่ยนชื่อร้านค้าปลอดภาษี ที่อาคารมหาทุนพลาซ่า ย่านเพลินจิตเป็น “ดาวน์ทาวน์ ทัวริสต์ ช็อป” ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ดาวน์ทาวน์ ดี.เอฟ.เอส.(ไทยแลนด์) จำกัด

king power 4

เปิดร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินฮ่องกง

ต่อมาในปี 2538 ได้ก่อตั้งบริษัท ฮ่องกง ไคตั๊ก อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ดิวตี้ฟรี ช็อป จำกัด รับสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินไคตั๊ก ฮ่องกง

จากนั้นในปี 2540 ได้ก่อตั้งบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่า แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และได้รับสัมปทานร้านค้าปลอดภาษี ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต ภายใต้ชื่อบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

ในปี 2542 บริษัท คิง เพาเวอร์ ออนบอร์ด เซลล์ แอด์ เซอร์วิส จำกัด ได้รับการอนุญาตจากบริษัท การบินไทย จำกัด ( มหาชน) จำหน่ายสินค้าปลอดภาษีในเครื่องบินของการบินไทย

ต่อมาในปี 2545 บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด หรือชื่อเดิมคือ บริษัท เจ.เอ็ม.ที.กรุ๊ป จำกัด ได้รับอนุญาตจากทอท.ประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต เป็นเวลา 10 ปี

ในปี 2547 กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้รับอนุญาตจาก ทอท. จำหน่ายสินค้าปลอดภาษี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ 28 กันยายน 2549 ถึง 27 กันยายน 2559 และในปีเดียวกันนี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เช่าที่ดิน 31 ไร่ ริถนนศรีอยุธยา – รางน้ำ มาสร้างโครงการคิง เพาเวอร์คอมเพล็กซ์ ในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งโรงแรม ภัตตาคาร โรงละคร และร้านค้าปลอดภาษีดาน์ทาวน์ แห่งใหม่

King Power Lounge 01 1

ถือสิทธิ์บริหารพื้นที่พาณิชย์สุวรรณภูมิ 10 ปี

ต่อมาในปี 2548 บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ชนะการประมูลรับสัมปทานเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่เพื่อการค้าภายในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิเป็นเวลา 10 ปี

ในปี 2549 หลังจากก่อสร้าง คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ที่ซอยรางน้ำแล้วเสร็จ ทางกลุ่บริษัท คิง เพาเวอร์ ก็ได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ แห่งนี้ พร้อมเปิดกิจการภัตตาคารรามายณะ และโรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ พร้อมกับเริ่มเข้าบริหารพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ

การดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีของคิง เพาเวอร์ประสบความสำเร็จเรื่อยมา กระทั่งในปี 2551 สภาอิสระ Super Brands ของประเทศอังกฤษ มอบรางวัล Super Brands ให้กับกลุ่ม คิง เพาเวอร์ 3 ปีซ้อน (2551-2553) และรับรางวัลชนะเลิศ The Frontier สาขาผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในสนามบินยอดเยี่ยม

ในปี 2552 กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้รับพระราชทานตราตั้งครุฑ นำมาประดิษฐาน ณ อาคารสำนักงาน คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์

ปี 2553 บริษัท ไทยแอร์ เอเชีย จำกัด อนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด บริษัทในเครือ กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ จำหน่ายสินค้าปลอดภาษีบนเครื่องบิน และในปีเดียวกันนี้ก็ได้ก่อตั้ง บริษัท เอเชีย ฟุตบอล แมนเนจเม้นต์ จำกัด เข้าถือหุ้นสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ โดยเข้าซื้อหุ้นเกิน 51% ใช้เงินในการซื้อมากกว่า 100 ล้านปอนด์ หรือกว่า 5,000 ล้านบาท

kingpower12

ปี 2554 คิง เพาเวอร์ ได้เปิดร้านค้าปลอดภาษีในเมืองแห่งที่สอง ใช้ชื่อ “คิง เพาเวอร์ พัทยา คอมเพล็กซ์” ที่พัทยากลาง โดยลูกค้าสามารถรับสินค้าได้ที่สนามบินอู่ตะเภา หรือสนามบินสุวรรณภูมิ

ปี 2555 บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้รับอนุญาตจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี ณ สนามบินดอนเมือง และในปีนี้นายวิชัย รักศรีอักษร รับพระราชทานนามสกุลใหม่ “ศรีวัฒนประภา”

ในปี 2556 กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้เปิดร้านค้าปลอดภาษีในเมืองแห่งที่สาม ที่ “คิง เพาเวอร์ ศรีวารี คอมเพล็กซ์” ถนนบางนา-ตราด กม.18

ในวันที่ 12 มิถุนายน 2559 ครอบครัวศรีวัฒนประภา ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น 39% มูลค่า 7,945 ล้านบาท (เป็นบริษัทที่ถือหุ้น ไทยแอร์เอเชีย 55%) ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2560 “ครอบครัวศรีวัฒนประภา” ขายหุ้นบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น 36.3% มูลค่า 8,279 ล้านบาทออกไป

ตึกมหานคร
โครงการ “มหานคร” ตึกระฟ้าสูงสุดในไทย

ซื้อ “มหานคร” 1.4 หมื่นล้านบาท

วันที่ 27 มีนาคม 2561 จัดตั้งบริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยมีนายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา เป็นกรรมการ ประกอบธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จากนั้นในวันที่ 10 เมษายน 2561 บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า คิง เพาเวอร์ ได้เข้าซื้อสินทรัพย์ในโครงการมหานคร มูลค่า 14,000 ล้านบาท

โดยเข้าซื้อในส่วนพื้นที่พาณิชย์ 7 ชั้นตึกคิวบ์ พื้นที่ส่วนของโรงแรมชั้น 1-20 และพื้นที่จุดชมวิวบนอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย บนชั้น 74-77 เพื่อเตรียมนำมาต่อยอดธุรกิจ โรงแรม ร้านค้าปลอดภาษี และการท่องเที่ยว

ดูข่าวอื่นๆ เกี่ยวกับคิง เพาเวอร์

เปิดประวัติ ‘เจ้าสัววิชัย’ มหาเศรษฐีแสนล้าน

คิงเพาเวอร์ควัก 1.4 หมื่นล้านซื้อทำเลทอง ‘มหานคร’

เพซขายมหานคร 1.4 หมื่นล้านต่อทุนขยายธุรกิจ

คิง เพาเวอร์คว้า 2 รางวัลระดับโลก

คิง เพาเวอร์เปิดตัว ‘อินดิโก้ 2’ ผ้าครามฝีมือคนไทย

คิง เพาเวอร์จับมือ ก้าวคนละก้าว

 

Avatar photo