Economics

สรท.มองส่งออกไทยดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก คงเป้าทั้งปีโต 3-4%

“สภาผู้ส่งออก” คาดแนวโน้มส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว หลังมีการกระจายวัคซีนป้องกันโควิดออกมาใช้งานในหลายประเทศมากขึ้น คาดส่งออกทั้งปีโตที่ระดับ 3-4%

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกของประเทศไทยดีขึ้นต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว หลังมีการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมาใช้งานในหลายประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างสหรัฐและจีนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ สรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตที่ระดับ 3 – 4%

“เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น เห็นตัวเลขส่งออกแล้วก็ดีใจ ราคาทองร่วงลง ขณะที่เงินบาทอ่อนในช่วงสั้น ๆ ต้องรอดูว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว เราจะสามารถฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน แต่คาดว่าการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์น่าจะยังไปได้ดี ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนนั้นไม่อยากให้แข็งค่าต่ำกว่า 30 บาท/ดอลลาร์” น.ส.กัณญภัค กล่าว

ส่งออก 2364

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่

1. ขอให้ผ่อนปรนมาตรการต่ออายุการแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย ให้สามารถทำงานต่อเนื่องในปี 2564 เพื่อให้มีแรงงานเพียงพอต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง

2. เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน

  • ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรให้มีความสามารถในการชำระค่าระวางเรือในอัตราที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจาก Demand ตู้สินค้ามากกว่า Supply ทำให้ราคาค่าระวางในแต่ละเส้นทางเดินเรือปรับตัวสูงต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการและสามารถจ่ายค่าระวางได้มากขึ้น
  • ขอให้ภาครัฐเช่าเรือและสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่ตกค้างในต่างประเทศกลับมาให้ผู้ส่งออกไทย
  • ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมบริการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ จะช่วยเพิ่มปริมาณตู้หมุนเวียนเข้ามาในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น

3. ทิศทางค่าเงินบาทแข็งมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มส่งสัญญาณอ่อนค่า ธปท. ต้องเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ผู้ส่งออกทั่วไปใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ด้านนางจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ สรท. กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 ได้แก่

1. เศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในปี 2564

  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 เป็น 5.5% จาก 5.2%
  • การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI Index) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิน 50 ซึ่งหมายถึงกิจกรรมการผลิตกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และสอดคล้องกับการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าขั้นกลาง อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

2. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับมาสู่ขาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อการส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป

3. ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนในหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจการค้า และธุรกิจของประเทศคู่ค้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

1. ปัญหาโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

  • ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ต่อไปอย่างน้อยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จากปริมาณตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือปลายทางทั้ง ยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย สวนทางกับความต้องการนำเข้าสินค้าที่มากขึ้น เช่น การบริโภคของสหรัฐประจำเดือนมกราคมในส่วนการค้าปลีกเติบโตขึ้นถึง 5.3%
  • อัตราค่าระวางเรือปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออกที่สูงขึ้น

2. ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ตามทิศทางของสกุลเงินภูมิภาค เนื่องด้วยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging market) จากแรงหนุนของความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้ก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2564 ประกอบกับมีสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่องของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงโดยเปรียบเทียบกับค่าเงินบาท

3. แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวของภาคอุตสาหกรรม สืบเนื่องจากการอพยพกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวจำนวนมากในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา โดยเฉพาะแรงงานเมียนมา ส่งผลโดยตรงกับภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากในภาคการผลิต ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มขาดแคลนแรงงาน ซึ่งกระทบต่อมูลค่าการส่งออกได้ในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo