Politics

โหวตสวนมติพรรค ผลโพลกว่าครึ่ง มองเป็นสิทธิส่วนบุคคล เห็นต่างได้

นิด้าโพล เผยผลสำรวจ การโหวตสวนมติพรรค ส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่ควรมีการลงโทษ เพราะ เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล ในการเเสดงความคิดเห็นที่เเตกต่าง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยถึงผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ลงโทษผู้โหวต สวนมติพรรคอย่างไรดี” จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป รวม 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการลงโทษ ส.ส. ที่โหวตไม่เป็นไปตามมติพรรค

ประชุมสภา ๒๑๐๒๒๘

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการลงโทษ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล ที่โหวตไม่เป็นไปตามมติพรรคร่วมรัฐบาลพบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.67 ระบุว่า ไม่ควรมีการลงโทษ เพราะ เป็นสิทธิของแต่ละบุคคลในการเเสดงความคิดเห็นที่เเตกต่าง ไม่จำเป็นต้องตามมติของพรรคเสมอไป

รองลงมา ร้อยละ 45.80 ระบุว่า ควรมีการลงโทษ เพราะ ไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ตนเอง ส.ส. มีหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนต้องออกเสียงหรือทำตามมติพรรค และร้อยละ 1.53 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามถึงรูปแบบการลงโทษ จากผู้ที่ระบุว่าควรมีการลงโทษ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.34 ระบุว่า ไม่ส่งลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรค ในการเลือกตั้งครั้งหน้า รองลงมา ร้อยละ 26.00 ระบุว่า ห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับพรรคหรือรัฐบาลอีกต่อไป

นิด้า 1

ขณะที่ร้อยละ 17.33 ระบุว่า ปลดออกจากทุกตำแหน่งในพรรคและรัฐบาล ร้อยละ 16.33 ระบุว่า ไล่ออกจากพรรค ร้อยละ 4.67 ระบุว่า บีบให้ลาออกจากพรรค และร้อยละ 1.33 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การว่ากล่าวตักเตือน

สำหรับความคิดเห็นของประชาชน ต่อการลงโทษ ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน ที่โหวตไม่เป็นไปตามมติพรรคฝ่ายค้าน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.82 ระบุว่า ไม่ควรมีการลงโทษ เพราะ ต้องเคารพความคิดเห็นของแต่ละบุคคล สิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันสามารถมีความคิดเห็นที่แตกต่าง กันได้ รองลงมา ร้อยละ 43.82 ระบุว่า ควรมีการลงโทษ เพราะ เป็นการไม่ปฏิบัติตามมติพรรค และไม่ยุติธรรมต่อพรรคที่ตนเองสังกัด เปรียบเสมือนเป็นงูเห่าของพรรค และร้อยละ 2.36 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามถึงรูปแบบการลงโทษ จากผู้ที่ระบุว่าควรมีการลงโทษ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.45 ระบุว่า ไม่ส่งลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรค ในการเลือกตั้งครั้งหน้า รองลงมา ร้อยละ 27.70 ระบุว่า ห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับพรรคอีกต่อไป

ส่วนอีกร้อยละ 17.07 ระบุว่า ไล่ออกจากพรรค ร้อยละ 15.85 ระบุว่า ปลดออกจากทุกตำแหน่งในพรรค ร้อยละ 4.53 ระบุว่า บีบให้ลาออกจากพรรค และร้อยละ 1.40 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ว่ากล่าวตักเตือน

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชน ต่อการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.24 ระบุว่า ควรมีการปรับ ครม. เพียงแค่บางตำแหน่ง รองลงมา ร้อยละ 33.66 ระบุว่า ควรมีการปรับ ครม. ครั้งใหญ่ ร้อยละ 11.68 ระบุว่า ไม่ควร มีการปรับ ครม. และร้อยละ 5.42 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo