Environmental Sustainability

ขยะจากชุมชน กับการเสริมความมั่นคงของไฟฟ้าในประเทศ

จาก สถิติล่าสุดปี 2561 คนไทยทิ้งขยะเฉลี่ยคนละประมาณ 1.15 กิโลกรัมต่อวัน อาจจะเป็นปริมาณไม่มาก แต่จากประชากรทั้งประเทศกว่า 66 ล้านคน จะมีปริมาณ ขยะชุมชน ที่ถูกทิ้งจากครัวเรือนสูงถึง 76.4 ล้านกิโลกรัมต่อวัน หรือมีปริมาณ 76,000 ตันต่อวัน และมีจำนวนรวม 28 ล้านตันต่อปี

ดังนั้นจากขยะชิ้นเล็ก ๆ ที่ทิ้งจากมือทุกคน ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ หากได้รับการบริหารจัดการไม่ดีพอ

ขยะชุมชน

“ขยะ” เป็นสิ่งของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต การอุปโภค และบริโภค ซึ่งเสื่อมสภาพจนใช้การไม่ได้ หรือไม่ต้องการใช้แล้ว

จำแนกตามลักษณะของ ขยะ หรือ ขยะชุมชน อย่างง่าย ๆ เป็น 2 ประเภท คือ

1. ขยะเปียก หรือ ขยะสด มีความชื้นปนอยู่มากกว่า 50% จึงติดไฟได้ยาก ส่วนใหญ่เป็น เศษอาหาร เศษผักผลไม้ ขยะประเภทนี้จะทำให้เกิดกลิ่นเน่าเหม็น เนื่องจากแบคทีเรียย่อยสลายอินทรีย์สาร นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอันตรายต่าง ๆ

2. ขยะแห้ง เป็นสิ่งเหลือใช้ที่มีความชื้นอยู่น้อย จึงไม่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น แบ่งเป็นขยะที่เป็นเชื้อเพลิง เป็นพวกที่ติดไฟได้ เช่น เศษผ้า เศษกระดาษ หญ้า ใบไม้ กิ่งไม้แห้ง พลาสติก เป็นต้น และขยะที่ไม่เป็นเชื้อเพลิง เช่น เศษโลหะ เศษแก้ว และเศษก้อนอิฐ

ขยะ หรือ ขยะจากชุมชน จะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับชาติ หากไม่เร่งแก้ไข หรือบริหารจัดการอย่างถูกวิธี ด้วยเหตุนี้ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย จึงนำขยะไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะกำจัดขยะ และยังได้ประโยชน์ในการสร้างกระแสไฟฟ้าเอาไว้ใช้

306 B 1 scaled e1638865279692

การผลิตไฟฟ้าจากขยะ เป็นเทคโนโลยีการนำขยะมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี

เทคโนโลยีเตาเผาขยะ เป็นการเผาขยะในเตาที่มีการออกแบบเป็นพิเศษให้ใช้กับขยะที่มีความชื้นสูง แต่การเผาไหม้จะต้องมีการควบคุมที่ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษ เช่น ก๊าซพิษ เขม่า หรือ กลิ่น ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยสิ่งที่ได้จากการเผาจะเกิดพลังงานความร้อนนำมาใช้ในการผลิตไอน้ำ เพื่อนำมาปั่นเครื่องผลิตไฟฟ้า

ส่วนก๊าซที่เกิดจากการเผาจะต้องนำไปกำจัดเขม่า และก๊าซพิษต่าง ๆ ก่อนส่งออกสู่บรรยากาศ ในขณะที่ขี้เถ้า จะนำไปฝังกลบ หรือใช้เป็นวัสดุปูพื้นสำหรับสร้างถนนต่อไป ซึ่งเทคโนโลยีนี้ มีข้อดีในเรื่องของการใช้พื้นที่จำกัด แต่มีข้อเสียคือ การใช้เงินลงทุน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการค่อนข้างสูง

เทคโนโลยีการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจาก ขยะจากชุมชน เป็นกระบวนการทำให้ขยะเปียกจำพวกเศษอาหาร ผัก และ ผลไม้ เปลี่ยนเป็นก๊าซ โดยสารอินทรีย์ในขยะ จะทำปฏิกิริยากับเชื้อจุลินทรีย์ ได้ก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงนำไปขับเครื่องยนต์ผลิตไฟฟ้า หรือให้ความร้อนโดยตรงต่อไป ข้อดีของเทคโนโลยีนี้คือ การเผาในลักษณะแบบนี้จะมีมลพิษน้อยกว่าการเผาแบบทั่วไป ส่วนข้อเสียคือ มีขั้นตอนการทำงานค่อนข้างมาก เงินลงทุนค่อนข้างสูง และระบบยังไม่ค่อยแพร่หลาย

เทคโนโลยีผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refused Derived Fuel: RDF) เป็นการนำขยะมูลฝอยมาผ่านกระบวนการคัดแยกวัสดุที่เผาไหม้ได้ออกมา และฉีกหรือตัดขยะมูลฝอยออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผ่านกระบวนการจัดการ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี ทำให้เป็นเชื้อเพลิงขยะที่สามารถนำไปเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าต่อไป โดยขยะที่ผ่านกระบวนการนี้จะได้ค่าความร้อนสูง มีคุณสมบัติเป็นเชื้อเพลิงที่ดีกว่า การนำขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมมาใช้โดยตรง ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีข้อดีในเรื่องการกำจัดขยะได้หลายประเภท และปลอดเชื้อโรค ส่วนข้อเสียคือ ใช้เงินลงทุนสูง

ในอดีตการสร้าง โรงไฟฟ้าขยะ ในประเทศไทย มักถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ เพราะไม่มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตั้งโรงไฟฟ้า แต่ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากขยะ มีความทันสมัยมากขึ้น มีความปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดปริมาณขยะได้เป็นอย่างดี จึงทำให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากขยะ

ขยะชุมชน

ขยะจากชุมชน เสริมความมั่นคงของไฟฟ้าในประเทศ

รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงความสำคัญว่า ขยะจะกลายเป็น “ปัญหาระดับชาติ” จึงประกาศให้ “การจัดการขยะ” เป็นวาระแห่งชาติ

พร้อมจัดทำแผนงาน (Roadmap) การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 โดยมีการบูรณาการ แผนบริหารจัดการขยะมูลฝอย ของจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด และจัดทำเป็นแผนแม่บท การบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559-2564 โดยมอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย

นอกจากนี้ยังกำหนดนโยบายแปรรูปขยะ และวัสดุเหลือใช้ให้เป็นพลังงาน พร้อมทั้งให้ความสำคัญเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ โดยนำขยะมาแปรสภาพเป็นพลังงาน ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อเป็นพลังงานทดแทน และแก้ปัญหาขยะล้นเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต

ขยะชุมชน

พลังงานจากขยะ จึงเป็นหนึ่งใน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) โดยกำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579

ต่อมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ปรับ เป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน เหลือ 400 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเหลือ 44 เมกะวัตต์ พร้อมกำหนดรูปแบบการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง ฟีดอินทารีฟ (Feed-in Tarif: FiT) สำหรับโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) อยู่ที่ประมาณ 5.60 บาทต่อหน่วย และโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) อยู่ที่ประมาณ 3.66 บาทต่อหน่วย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้กำกับการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีผู้ผลิตไฟฟ้ารวม 56 ราย กำลังผลิตไฟฟ้าที่มีพันธะผูกพันแล้ว 488 เมกะวัตต์ แต่มีการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว 262 เมกะวัตต์ เมื่อเปรียบเทียบกับ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558–2579 (AEDP2015) จำนวน 550 เมกะวัตต์ คงเหลือจากแผน 62 เมกะวัตต์

หากโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้นตามแผนรับซื้อไฟฟ้า จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดปริมาณขยะในประเทศไทย และยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight