Sme

‘ธนินท์’ แนะรัฐเปิดทาง ‘สตาร์ทอัพ’ ลงทุนไทย เน้น ‘ของใหม่-ต่อยอดของเก่า’

“เจ้าสัวธนินท์” ชี้ ไทยยังขาดคนมีความรู้เรื่องธุรกิจรุ่นใหม่ แนะรัฐดึง “สตาร์ทอัพ” เข้าลงทุน ช่วยหนุนคนไทยเก่งขึ้น บอกผู้ประกอบเจอผลกระทบโควิด มองหา “ความเก่ง” ของตัวเอง พร้อม หาทาง “ต่อยอด” จากธุรกิจที่ยังประสบความสำเร็จ 

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวภายใต้หัวข้อ “SMEs Clinic ร่วมคิดฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ” ในคลับเฮาส์ ว่า ในรัฐบาลยุคนี้ ถ้ามีความเข้าใจก็เชื่อว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้หรือไปได้ถูกทางมากขึ้น

3434074

สำหรับในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพ ต้องการที่จะเข้ามาลงทุน หรือใช้ชีวิตในไทย เนื่องจากเห็นว่า ไทยน่าลงทุน และน่ามาอยู่ เพราะเทคโนโลยีในทุกวันนี้ ทำให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้

ในยุคนี้คนเก่ง ต้องการเข้ามาอยู่เมืองไทย จะไม่มีคำว่าแรงงาน มีแต่วิศวกร ช่างเทคนิค ใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะ ไม่มีสหภาพแรงงาน สวัสดิการ ประเทศที่เจริญแล้ว จะไม่มีเกษตรกร แต่การขายจะง่ายขึ้น วัตถุดิบจะซื้อได้ง่ายขึ้นผ่านเว็บไซต์ โดยการไปดูว่าประเทศไทยมีสินค้าอะไร ขายราคาเท่าไหร่ เปรียบเทียบได้ด้วย

“ประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาส แต่รัฐบาลต้องเข้าใจกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่เข้ามาลงทุน แต่ตอนนี้ก็มีหลายข้อจำกัด ที่ทำให้เข้ามายากมาก วันนี้เราขาดแคลนคนเก่ง ขาดคนที่มีความรู้ ทำเรื่องธุรกิจรุ่นใหม่สำเร็จ ทำไมเราไม่ดึงคนเหล่านี้เข้ามาแล้ว มาดึงคนไทยเก่งขึ้นไปด้วย”

ส่วนแผนจะตั้งกองทุนสตาร์ทอัพ 100 ล้านดอลลาร์ ก็ต้องมาดูว่า ธุรกิจเหล่านั้นเป็นแบบใหม่หรือเปล่า เพราะถ้าลงทุนแบบเก่า จะไปสู้คนเก่าก็คงจะยาก ต้องปล่อยให้คนที่มีประสบการณ์ต่อยอด ส่วนการลงทุนของบริษัท ก็ต้องทำของใหม่ หรือคนเก่าทำไม่ได้ ไม่ทำ ก็เข้าไปต่อยอด

จากการที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นขาดเงิน ขาดความรู้ บางรายต้องการไปเรื่องการผลิต บริษัทก็ต้องคอยสนับสนุนด้านความรู้ด้วย เพราะการให้เงินอย่างเดียวไม่พอ ถ้าเห็นว่ามีโอกาสก็ต้องช่วยเขา ส่งเสริมการขาย ให้รู้จักวิธีการบริหาร แต่ใช้วิธีใหม่ของโลก เสริมเรื่องประสบการณ์ของเก่า ไปประยุกต์เป็นของใหม่

นายธนินท์ ยังให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการต่ออีกว่า หากวันนี้ธุรกิจของตัวเองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผู้ประกอบการต้องไปศึกษา และมองว่าตัวเองนั้นเก่งเรื่องอะไร ต้องไปดูธุรกิจที่ยังประสบความสำเร็จ ท่ามกลางวิกฤติโควิดว่า มีประเภทไหนบ้าง เพื่อมาต่อยอดกับธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการนั้น ๆ มีอยู่

อาจจะไม่ต้องเปลี่ยนเป็นหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะหากทำเรื่องไม่เข้าใจเลยต้องเริ่มใหม่ แต่ต้องต่อยอด แล้วจะผิดอะไร ที่จะใช้ความรู้ เครื่องจักร หรือความเชี่ยวชาญ ที่มีอยู่มาต่อยอด อาทิ กระเป๋าเดินทาง ก็หันไปทำกระเป๋าเก็บอุณหภูมิ รองรับการจัดส่งสินค้า และธุรกิจเดลิเวอรี่ เพราะส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบต่อยอด ไม่ชอบมาเริ่มจากศูนย์เท่าไหร่นัก โดยอาจจะมีกองทุนใหญ่อีกหนึ่งกองทุน เพื่อเข้าไปลงทุนธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

ด้านธุรกิจท่องเที่ยว หรือไกด์ ยังน่าสนใจ แต่ต้องเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ไม่ใช่แค่พาไปเที่ยวอย่างเดียว แต่ต้องมีความทันสมัย ส่วนตัวก็สนใจลงทุนธุรกิจไกด์กับทัวร์ ถ้าเป็นรัฐบาลคงจะเอาเงินเลี้ยงธุรกิจเหล่านี้ให้อยู่รอด อย่าง รัฐบาลอังกฤษมีการจ่ายเงินเดือน ไม่ให้ไล่พนักงานออก เพราะประเทศเขามีความเข้าใจ ไม่เหมือนรัฐบาลไทย ต่อไปโควิดหายไปแล้ว คนมาท่องเที่ยว มีการเตรียมความพร้อมผ่านการอบรม ต้องมีธุรกิจแบบนี้ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ด้านบุคลากรการ จะทำให้เขามีกำลังใจ ต้องคิดว่า พนักงานของบริษัทเหมาะสมกับอะไร แล้วเป้าหมายของบริษัทคืออะไร ต้องหาคนแบบไหนที่เหมาะสมกับงาน ต้องให้อำนาจ และโอกาสเขาลองผิดลองถูก ให้เขามีอำนาจตัดสินใจ ไม่ใช่มาเที่ยวถามคนล้าสมัยแล้วคุมอำนาจเขา ควรเป็นการชี้แนะแต่ไม่ชี้นำ ให้โอกาสเขาทำผิด ตัวเรามีหน้าที่สนับสนุน จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหากไปชี้นำ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo