Lifestyle

ภัยเงียบ โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอ กดทับเส้นประสาท

กรมการแพทย์เตือน โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาท ปวดกระดูกคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ร้าวลงไปที่แขน ควรรีบพบแพทย์

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอ กดทับเส้นประสาท เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง หรือมีการฉีกขาด ของเยื้อหุ้มหมอนรองกระดูกสันหลัง จากอุบัติเหตุ เช่น การขยับคอผิดจังหวะอย่างรวดเร็วและรุนแรง การก้มหยิบของหนัก การออกกำลังกายแบบหักโหมมากเกินไป

13BBB4D3

ทั้งนี้ มักเกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง บริเวณคอและเอว เนื่องจากเป็นกระดูกไขสันหลัง ส่วนที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด ซึ่งมีผลทำให้ชิ้นส่วนของหมอนรองกระดูกสันหลังบางส่วน เคลื่อนหลุดออกมา กดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง หรือรุนแรงถึงขั้นอัมพาตได้

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการผู้ป่วย จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  • อาการของการกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดต้นคอร้าวไปตามต้นแขน หรือมือ ตรงตำแหน่งที่เส้นประสาทถูกกด ในรายที่มีอาการรุนแรงส่งผลให้แขนหรือมืออ่อนแรงได้
  • อาการของการกดของ ไขสันหลัง จะทำให้ผู้ป่วยขาอ่อนแรง เดินลำบาก ขาตึง ชาตามลำตัว และลามไปขาทั้ง 2 ข้าง  ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนแรงของมือร่วมด้วย โดยที่ไม่มีอาการปวดตามขาหรือแขนที่อ่อนแรง ส่วนอาการปวดคออาจจะมีร่วมด้วยหรือไม่มีก็ได้

หากมีอาการดังกล่าว แพทย์ผู้รักษา จะทำการซักประวัติอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุ และส่งตรวจด้วยการเอ็กซ์เรย์ ซึ่งสามารถวินิจฉัยโรคได้เกือบทุกราย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษ ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องทำการผ่าตัด

กรณีผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการปวดมาก อาจใช้เฝือกอ่อนพยุงคอ (soft collar) เพื่อช่วยลดการขยับคอ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายปวดและมีอาการดีขึ้นหรือหายได้ กรณีอาการปวดยังไม่หาย และมีอาการอ่อนแรงเพิ่มมากขึ้น แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดแก่ผู้ป่วย

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัสดุ ที่ใช้ค้ำบริเวณช่องว่างกระดูกสันหลัง ด้วยวัสดุที่เลียนแบบธรรมชาติของหมอนรองกระดูก ซึ่งสามารถทำให้ขยับ ก้มเงย หมุนคอ และเอียงคอได้เหมือนธรรมชาติ เรียกว่า หมอนรองกระดูกเทียม (artificial disc replacement)

ขณะที่ สถาบันประสาทวิทยา ได้ทำการรักษาวิธีนี้มานาน กว่า 10 ปี และมีเทคนิคการผ่าตัดแบบส่องกล้อง และการผ่าตัดแบบเปิดแผลขนาดเล็ก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง และฟื้นตัวกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันหรือทำงานได้เร็วขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo