Politics

‘วันมาฆบูชา’ วันพระใหญ่ ‘คิดดี-ทำดี’ จิตใจผ่องแผ้ว

“วันมาฆบูชา” เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางพุทธศาสนา โดยคำว่า “มาฆบูชา” ย่อมาจาก “มาฆปูรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย

มาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งในปี 2565 นี้ตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ สำหรับความสำคัญของวันนี้ ในอดีตถือเป็นเหตุการณ์ที่อัศจรรย์ เมื่อพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ เรียกว่า วันจาตุรงคสันนิบาต

วันนี้เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์”  แก่พระสงฆ์ 1,250 รูป ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งหมด และมาเฝ้าพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “จาตุรงคสันนิบาต”

วันมาฆบูชา

จาตุรงคสันนิบาต หมายความว่า “การประชุมด้วยองค์ 4” กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ

  • เป็นวันที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
  • พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
  • พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์
  • เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ์

วันมาฆบูชา ในประเทศไทย

เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เริ่มต้นขึ้นจากภายในพระบรมมหาราชวังก่อน มีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า ส่วนเวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่อง มนัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว สวดมนต์ต่อไปมีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบ พระอุโบสถ 1,250 เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนา โอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย เทศนาจบ พระสงฆ์สวดรับการประกอบพระราชกุศลเกี่ยวกับวันมาฆบูชา

ต่อมาพิธีก็ได้ขยายออกไป ให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีการบูชา ด้วยการเวียนเทียน และบำเพ็ญกุศลต่างๆ

ส่วนกำหนดวันประกอบพิธีมาฆบูชานั้น ปกติตรงกับวันเพ็ญ เดือน 3 หากปีใดเป็นอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองครั้ง จะเลื่อนไปตรงกับวันเพ็ญ เดือน 4

วันมาฆบูชา

โอวาทปาติโมกข์ คืออะไร

หลักคำสอนคำสำคัญของพระพุทธศาสนาอันเป็นไปเพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น หรือคำสอนอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 วิธีการ 6

หลักการ 3

  • ไม่ทำบาปทั้งปวง  งดเว้น การลดละเลิก ทำบาปทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และใจ
  • ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำความดีทุกอย่าง ได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี 10 อย่าง อันเป็นความดีทางกาย วาจา และใจ
  • ทำจิตให้ผ่องใส  ทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิต ไม่ให้เข้าถึงความสงบ

อุดมการณ์ 4

  • อดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ
  • ไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
  • สงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
  • นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

วิธีการ 6

  • ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร
  • ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
  • สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎ กติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม
  • รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารหรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
  • อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
  • ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีสุขภาพคุณภาพ และประสิทธิภาพที่ดี

วันมาฆบูชา

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติใน “วันมาฆบูชา”

การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาในวันนี้ก็คือ การทำบุญ ตักบาตรในตอนเช้า หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวาน ไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา

ในตอนกลางคืน จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียน รอบพระอุโบสถ พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม 3 จบ จากนั้นกล่าวคำ ถวาย ดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม จบแล้วเดิน เวียนขวา

ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ 3 รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัด เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo