Politics

รัฐดิ้น!! ดันแร็พ ‘ประเทศกูมี’ แจ้งเกิด วิวพุ่ง 6 ล้าน

พวกคุณไม่รู้โว้ย ว่าประเทศ .. นี่มันมีอะไร เดี๋ยวพวกผมทั้งหมดจะเล่าให้ฟัง
ประเทศที่เสือดำหน้าคะมำเพราะไรเฟิล ประเทศที่พล่ามแต่ศีลธรรม แต่อาชญากรรมสูงกว่าไอเฟล
ประเทศที่กฎหมายไม่สู้พระธรรม หรือไบเบิล ประเทศที่คนดีๆ มีสดุดีเป็นไอดอล
ประเทศที่ตุลาการมีบ้านพักบนอุทยาน ประเทศที่ใจกลางกรุงเป็นทุ่งสังหาร
ประเทศที่ผู้นำทานอิฐทานปูนเป็นของหวาน
ประเทศกูมี ประเทศกูมี ….

บทเพลงดังกล่าวกลายเป็นเรื่องราวที่ถูกผู้คนพูด มียอดผู้เข้าชมในยูทูบทะลุ 6 ล้านวิว เพียงชั่วข้ามคืน จากเสียงวิจารณ์ของภาครัฐว่าทำร้ายประเทศ แต่กลับโดนใจคนในประเทศอีกหลายล้านคน โดยเพลง ‘ประเทศกูมี’ เกิดจากการรวมกลุ่มของแร็ปเปอร์ในโปรเจค “Rap Against Dictatorship” ซึ่งได้ปล่อยมิวสิควิดีโอของเพลงออกมาเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื้อหาของเพลงเป็นการหยิบจับสถานการณ์ทางการเมืองมาร้อยเรียงให้เข้าใจง่าย

rap4

Rap Against Dictatorship ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเพลงของพวกเขาว่า เพลงเป็นกระแสเปิดความคิดให้คนว่า พวกเขาสามารถพูดเรื่องนี้ได้

“คนที่ฟังเพลงประเทศกูมีแล้วคอมเมนต์หรือแชร์ เราก็คิดว่ามันคือการตื่นตัวแล้ว หรือถ้าเขาจะเบื่อ ไม่สนใจ อันนั้นก็เป็นสิทธิของเขา เพราะเขาอาจจะประสบอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาไม่อยากยุ่งแล้วก็ได้ แต่บางคนที่อยู่กับความกลัวหรือไม่กล้าแล้วออกมาด่าเราที่ทำเพลงนี้ออกมา เราก็ถือว่าเขาตื่นตัวทางการเมืองแล้ว เพราะอย่างน้อยเขาก็ลุกขึ้นมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่ก็คือการเคลื่อนไหวทางความคิดแล้วในยุคนี้”

รัฐไม่ปลื้มเสียดสีสังคม-โจมตีรัฐบาล

แต่การแสดงความคิดอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ปลื้มในฝั่งของภาครัฐ เห็นได้จากการที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเพลงนี้ว่า เรื่องนี้รัฐบาลรู้สึกเสียใจต่อการกระทำดังกล่าว เสียใจที่เยาวชนมาทำเพลงในลักษณะนี้ ไม่แน่ใจว่าทำด้วยความตั้งใจของตัวเอง หรือมีใครอยู่เบื้องหลัง

ตามด้วยการสำทับจาก พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่กล่าวถึงเรื่องที่ว่าเพลงนี้มีเนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. หรือไม่นั้นว่า ต้องขอให้ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบอีกครั้งว่าเนื้อหาเข้าข่ายหรือไม่ สำหรับคนที่ปรากฎในคลิปก็ต้องเชิญตัวมาให้ปากคำ ว่า มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดคำสั่ง คสช. ด้วยหรือเปล่า

“เตือนคนทำเพลง อย่าทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะไม่เป็นผลดีกับตัวเองและครอบครัว หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นกระทำผิด” พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าว

ไม่เข้าใจผิดอะไร

ขณะที่ นายธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับวิดีโอประกอบเพลง “ประเทศกูมี” บอกกับบีบีซีไทยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากทางตำรวจแต่อย่างใด และก็ยังไม่เข้าใจด้วยว่าข้อหาที่จะมาแจ้งความคืออะไร

44979707 10156046397578931 7562739776718110720 n
ธีระวัฒน์ รุจินธรรม (ภาพ: เฟซบุ๊กTeerawat Rujenatham)

“เดิมทีผมไม่คิดว่าเขาจะสนใจ เป็นเสียงของพลเมืองกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง ที่คิดว่ามีความจริงที่จะพูด อย่างที่ผมทำในมิวสิค(จำลองเหตุการณ์ 6 ตุลา) มันก็เป็นความจริงในประวัติศาสตร์ ก็ไม่คิดว่าเขาจะซีเรียสอะไรขนาดนั้น คิดว่าเขามีอะไรที่ต้องทำเยอะ”

ที่เพลงเป็นกระแสอาจจะเพราะมีคนที่รู้สึกเหมือนกันเยอะ จนทำให้ทางการตกใจว่าทำไมคนแชร์และไลค์เยอะ

“เราควรจะซื่อสัตย์ต่อความคิดตัวเอง ไม่ได้ชั่วร้าย ไปฆาตกรรม ประเทศเรามีอะไรไม่ดี เราก็พูดออกไป เรื่องที่พูดเป็นเรื่องจริง จะอยู่กับความหลอกลวงหรือเรื่องจริง หลอกลวงอยู่ได้แค่ชั่ววูบ สุดท้ายต้องอยู่กับความจริง”

คุกคามสิทธิเสรีภาพแสดงออก

ท่าทีของภาครัฐยังทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามมาอย่างมาก โดยเฟซบุ๊กเพจเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง- คนส. ได้โพสต์แถลงการณ์ เรื่อง “การคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมือง กรณีกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship” ระบุว่า

ท่าทีของภาครัฐนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับในหลักการว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อีกทั้งยังไม่เป็นผลดีต่อการสร้างบรรยากาศเพื่อนำสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

kkk

คนส. เห็นว่าการสื่อความเห็นของกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship ในบทเพลงและภาพประกอบนั้น เป็นการใช้ศิลปะเพื่อกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดตามหน้าที่ของศิลปินในอารยประเทศ และประเด็นที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมาเปรียบเปรยล้วนเป็นประเด็นที่สังคมติดตามให้ความสนใจมาโดยตลอด ไม่สมควรที่ พล.ต.อ. ศรีวราห์ จะก้าวล่วงใช้อำนาจอย่างครอบจักรวาลเพียงเพราะเป็นความเห็นส่วนตัว … สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แล้ว ไม่ควรจะมีอำนาจอื่นใดเหนือบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

พร้อมกันนี้ คนส. จะร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship ทั้งในแง่มุมกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างถึงที่สุด

ดังมากเพราะรัฐทำเอง

ขณะที่เพจดังอย่าง “อีเจี๊ยบ เลียบด่วน” ออกมาแสดงความเห็นว่า ผู้ใหญ่ภาครัฐพลาดมาก ที่ไปแตะเรื่องนี้ โดยชี้ว่า การที่ผู้ใหญ่ให้ความสนใจ เลยทำให้คนหันมาอยากฟังเพลงกันใหญ่ และพากันไปหามาฟัง จนทำให้เพลงนี้ดังไปกันใหญ่

ในโพสต์ยังระบุด้วยว่า “ถ้าใจกว้าง อยู่เฉยๆ นั่งเท่ๆ ยิ้มใจดี อบอุ่น รับฟังเสียงสะท้อนของวัยรุ่นมันบ้าง สิ่งที่มันพูดก็คือความรู้สึกของคนส่วนนึงในสังคมที่เค้าอึดอัดมาหลายปี ให้มันได้มีรูระบายบ้างเถอะ”

jeab

ยังปลอดภัยดี

ล่าสุดเฟซบุ๊ก เพจ Rap Against Dictatorship ได้โพสต์ข้อความขอบคุณบรรดาผู้ให้กำลังใจ พร้อมยืนยันว่า พวกเขายังปลอดภัยดี ไม่มีการเข้าจับกุมใดๆ จาก จนท.รัฐ ตามที่มีการลือกัน

rap

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight