Business

ผลประกอบการ 2563 ‘BEM’ กำไรหด 62% แต่ยืนยันจ่ายปันผล 10 สตางค์

ผลประกอบการ 2563 “BEM” กำไรหด 62% ธุรกิจหลักเจอพิษโควิด-19 ทุบ แต่ยืนยันดูแลผู้ถือหุ้น จ่ายปันผล 10 สตางค์ มั่นใจไวรัสคลี่คลาย รายได้กลับสู่ภาวะปกติ

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ดำเนินธุรกิจขนส่งมวลชนทางรางและทางพิเศษ (ทางด่วน) แจ้งผลประกอบการปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,051 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 3,384 ล้านบาท หรือ 62.3% เนื่องจากปีก่อนมีกำไรจากการโอนเปลี่ยนประเภทเงินลงทุนใน บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW สุทธิจากภาษี 2,334 ล้านบาท แต่ไม่มีรายการลักษณะดังกล่าวในปีนี้

BEM ผลประกอบการ 2563

หากไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (one time) กำไรของ BEM ลดลง 1,050 ล้านบาท หรือ 33.9% จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของบริษัทลดลง รวมถึงบริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครบทั้งสายทาง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 แต่มีผลบวกจากการลดลงของค่าตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้ประโยชน์บนงานก่อสร้างทางด่วนศรีรัช ซึ่งได้ถูกตัดจำหน่ายหมดไปแล้วในไตรมาสที่ 1 ปี 2563

แม้ว่าปี 2563 จะเป็นปีลำบากจากผลกระทบโควิด-19 แต่บริษัทยืนยันที่จะดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ถือหุ้น โดยการเสนอเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 10 สตางค์

ทั้งนี้ บริษัทมีกำหนดจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในวันพุธที่ 28 เมษายน 2564 ในรูปแบบ e-AGM เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ปี 2564 รายได้ของบริษัทจะกลับสู่สภาวะปกติแน่นอน

 

ไวรัสทุบธุรกิจหลัก “BEM” 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25 ก.พ.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แจ้ง ผลประกอบการ ปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 2,051 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 3,384 ล้านบาท หรือ 62.3% โดยกำไรต่อหุ้นส่วนที่เป็นของบริษัทอยู่ที่ 0.13 บาท จากปีก่อนอยู่ที่ 0.63 บาท

shutterstock 1469559827 e1607071231192

BEM มีรายได้จากการดำเนินงานธุรกิจหลัก 13,490 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2,617 ล้านบาท หรือ 16.2% โดยรายได้ค่าผ่านทางลดลง 2,157 ล้านบาท รายได้ค่าโดยสารและรับจ้างเดินรถลดลง 502 ล้านบาท ขณะที่รายได้พัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 42 ล้านบาท

ในส่วนของรายได้อื่น จำนวน 833 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 55  ล้านบาท หรือ 6.2% เนื่องจากไม่มีกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในปีนี้ ขณะที่มีการบันทึกเงินปันผลรับจาก TTW เป็นรายได้แทนการบันทึกส่วนแบ่งกำไรเนื่องจากการเปลี่ยนประเภทเงินลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2562

ในด้านต้นทุนการให้บริการ จำนวน 8,426 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,885 ล้านบาท หรือ 18.3% สาระสำคัญจากการลดลงของค่าตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้ประโยชน์บนงานก่อสร้างทางด่วนของทางด่วนศรีรัช ส่วน A B C ซึ่งได้ถูกตัดจำหน่ายหมดแล้วในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินซึ่งเปิดให้บริการครบทั้งสายแล้วเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา แม้ว่าการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและควบคุมโควิด-19 ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ด้วยการบริหารจัดการ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจึงเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย

ในส่วนของค่าใช้จ่ายทางการเงินภายหลังจากที่เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครบทั้งสายทาง ดอกเบี้ยของเงินกู้ที่เคยบันทึกเป็นต้นทุนโครงการได้ถูกบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนตามมาตรฐานบัญชี ทำให้ดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

MRT รถไฟฟ้า11 e1585872740333

สำหรับเหตุการณ์สำคัญของ BEM ในปี 2563 มีดังนี้

  • 20 กุมภาพันธ์ 2563 BEM บริษัทย่อย และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ลงนามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (แก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาของสัญญาไปครบกำหนดพร้อมกันในเดือนตุลาคม 2578
  • 30 มีนาคม 2563 บริษัทได้เปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเชิงพาณิชย์ครบทั้งสายทาง ระยะทางรวม 48 กิโลเมตร จำนวน 38 สถานี พร้อมทั้งเพิ่มขบวนรถไฟในการให้บริการจากเดิม 19 ขบวน เป็น 54 ขบวน

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 BEM และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 113,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,919 ล้านบาท หรือ 1.7% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 มีหนี้สินรวมจำนวน 75,582 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,708 ล้านบาท หรือ 3.7% และส่วนของผู้ถือหุ้นรวม จำนวน 38,034 ล้านบาท ลดลง 789 ล้านบาท หรือ 2%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo