Business

‘ฟยอร์ดเทรนด์’ วิเคราะห์เทรนด์โลก ปี 2564 จุดเปลี่ยนศตวรรษที่ 21

“ฟยอร์ดเทรนด์ 2021” วิเคราะห์เทรนด์โลก มองปี 2564 เป็นจุดเปลี่ยนของศตวรรษที่ 21 เผย 7 แนวโน้มเด่น สร้างความหวังใหม่ให้ธุรกิจ ผู้บริโภค สังคม

เอคเซนเชอร์ (NYSE: ACN) เปิดเผยรายงาน ฟยอร์ดเทรนด์ 2021 (Fjord Trends 2021) พบว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดนิยามใหม่ และการปรับเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม แต่อัจฉริยภาพของมนุษย์ ก็ทำให้สามารถคิดนวัตกรรมคลื่นลูกใหม่ ให้พร้อมเป็นพิมพ์เขียว สำหรับหลายทศวรรษข้างหน้า

ฟยอร์ดเทรนด์

สำหรับรายงานฟยอร์ดเทรนด์ จัดทำเป็นปีที่ 14 แล้ว จากการวิจัยข้อมูลในเครือข่ายนักออกแบบและสร้างสรรค์งานระดับโลกของเอคเซนเชอร์ อินเทอร์แอ็กทิฟ พบว่า องค์กรต่าง ๆ จะมีโอกาสเปิดศักยภาพและตลาดใหม่ จากการนำกลยุทธ์ บริการ และประสบการณ์แบบใหม่ ๆ ไปใช้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่พัฒนาและเปลี่ยนไปอยู่ตลอด

นายดาวิน สมานนท์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานบริการทางการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมื่อโลกผ่านพ้นวิกฤติหนึ่งมาได้ ยุคแห่งแนวคิดใหม่ก็จะเริ่มต้นขึ้น เมื่อมองภาพถึงอนาคตข้างหน้า ยังมีศักยภาพอีกมากมายในโลกที่รออยู่ สิ่งที่เราทำในปัจจุบันนี้ จะเป็นตัวกำหนดว่าเวลาช่วงที่เหลือของศตวรรษนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งทุกธุรกิจต่างก็มีสิทธิ์และอิสระที่จะคิด จะทำ ต่างกันออกไป

ขณะที่ รายงานฟยอร์ดเทรนด์ในปีนี้ พบว่า โรคระบาด ทำให้เกิดทั้งความชัดแจ้ง และความตกใจ ขณะที่ก็เกิดความโกลาหลและความเศร้าสลดด้วย

สถานการณ์ดังกล่าว เผยให้เห็นว่า สิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์คืออะไร และได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชุมชนและนักคิดที่สร้างสรรค์งานอยู่กับบ้าน ได้เห็นการทดลองใหม่ ๆ ในภาคธุรกิจ เช่น การจะตอบสนองต่อสถานการณ์ ในด้านมาตรการและการสื่อสารอย่างไร จะสนองต่อความคาดหวังของลูกค้า ที่ยกระดับมากขึ้นอย่างไร และจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าองค์รับรู้ และเข้าใจได้อย่างไร ทั้งหมดนี้ต้องดำเนินต่อเนื่องไปในขณะที่องค์กรก็ต้องฝ่าฟันสภาพเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงด้วย

สำหรับ 7 แนวโน้มเด่นที่จะเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค และสังคมในอนาคต มีดังนี้

  • วิถีใหม่ห่างเพราะห่วง (Collective Displacement)

ในปี 2563 วิถีที่คนได้รับประสบการณ์ และสถานที่เกิดประสบการณ์นั้น ๆ เปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นมา ทุกคนต่างต้องแยกย้าย แยกกันทำงานหรือทำกิจกรรม ต้องหาวิธีใหม่และสถานที่ใหม่ ในการจะทำการงานที่จำเป็น รวมทั้งทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำงาน ซื้อของ เรียนรู้ เข้าสังคม เลี้ยงลูก และดูแลสุขภาพ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เปลี่ยนไปสำหรับหลาย ๆ คน ตัวแบรนด์เองก็ต้องหาแนวทางใหม่ และนำเสนอประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าด้วย

new normal wfh delivery ๒๑๐๒๒๗

  • นวัตกรรม DIY (Do-it-yourself innovation)

นับวัน นวัตกรรมก็ยิ่งขับเคลื่อนด้วยความปราดเปรื่องของมนุษย์ ที่ต้องค้นหาแนวทางใหม่ หรือ “เอาตัวรอด” เมื่อต้องเจอกับความท้าทาย เทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาท เป็นตัวช่วยดึงความอัจฉริยะ ความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนให้ฉายแสงออกมาอย่างต่อเนื่อง มนุษย์จึงต้องการโซลูชั่นที่ดีขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่แบรนด์ถูกคาดหวัง ให้คิดค้นโซลูชั่นที่สำเร็จมาแล้ว กลับเปลี่ยนเป็นยุคที่แบรนด์ต้องสร้างสิ่งแวดล้อม ที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรม ของแต่ละบุคคลมากขึ้น

  • ความเป็นทีมที่หลากหลาย (Sweet teams are made of this)

จากที่เคยทำงานข้างนอก ตอนนี้การต้องอยู่ต้องกินในบ้าน ซึ่งกลายมาเป็นที่ทำงาน ส่งผลอย่างมากต่อความสัมพันธ์ที่มี ระหว่างนายจ้างและพนักงาน รวมทั้งประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ใครจะเป็นคนตัดสินใจเรื่องชุดที่ใส่เมื่อมีการทำวิดีโอคอลคุยเรื่องงาน ในสถานที่ที่เป็นบ้านของเขาเอง หรือใครเป็นคนรับผิดชอบในการสงวนสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของคนที่ทำงานที่บ้าน

แม้ว่าขณะนี้จะเริ่มมีวัคซีนแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ได้เกิดขึ้นอย่างถาวรแล้ว ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างคนกับงาน และระหว่างนายจ้างกับทีมงาน รูปแบบการทำงานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และจะมีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต

  • ท่องโลกแบบอินเทอร์แอ็คทีฟ (Interaction wanderlust)

ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ผ่านทางหน้าจอมากขึ้น เราจะสังเกตเห็น “สิ่งเดิม ๆ” ในหน้าจอที่เหมือนเป็นเทมเพลตเดียวกันในแง่ประสบการณ์ดิจิทัล องค์กรจึงต้องคิดใหม่ในเรื่องการออกแบบ เรื่องคอนเทนต์ กลุ่มเป้าหมาย และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อให้สามารถสร้างความแตกต่าง ตื่นเต้น เร้าใจ เพลิดเพลิน และโดนใจ เจาะเข้าไปในประสบการณ์ที่พวกเขาพบเจอบนหน้าจอ

  • ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ไหลลื่น (Liquid infrastructure)

เมื่อวิธีการได้รับผลิตภัณฑ์และการบริการของคน กระจายแยกพื้นที่กันไป องค์กรจึงต้องคิดใหม่ในเรื่องซัพพลายเชน และการใช้สินทรัพย์ทางกายภาพ รวมทั้งจุดให้บริการว่า จะทำให้เกิดความเพลิดเพลิน และประทับใจต่อผู้บริโภคได้อย่างไร

บริษัทจึงต้องปรับตัวให้ไว และยืดหยุ่นพอ ที่จะฟื้นตัวรองรับสถานการณ์ ซึ่งการจะปรับตัวได้เร็วนั้น ควรคิดถึงการเปลี่ยนแปลงเสมอ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะเกิดขึ้นเพราะคนแสวงหาหนทางที่ยั่งยืน

  • แบรนด์ที่ใส่ใจอย่างจริงใจ (Empathy challenge)

คนในปัจจุบัน ใส่ใจว่าแบรนด์มีจุดยืนต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ในสังคม และแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของแบรนด์อย่างไร สถานการณ์โรคระบาด ได้ฉายสปอตไลต์ให้คนเห็น ระบบที่ไม่เชื่อมโยงกัน และไม่เท่าเทียมกันในโลก ตั้งแต่เรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพไปจนถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์

ดังนั้น บริษัทจึงต้องทำงานอย่างหนัก ในการจัดระบบเรื่องราวที่ผู้คนรับรู้ หรือมองภาพเกี่ยวกับแบรนด์ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นที่ใกล้ตัวเขามากที่สุด และผลักดันให้เกิดพฤติกรรมที่สอดคล้อง

ภาพประกอบ 2
Couple buying new sunglasses in online store
  • พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป (Rituals lost and found)

การที่วิถีในการดำรงชีวิตหรือพิธีกรรมต่าง ๆ ถูกยกเลิกและเปลี่ยนโฉมไป อันเนื่องมาจากภาวะนิวนอร์มัล เป็นโอกาสที่ดีที่องค์กร จะช่วยให้ผู้คนค้นหาความหมาย ด้วยวิถีใหม่ ๆ ที่ให้ความเพลิดเพลิน และสบายใจ แบรนด์ควรเริ่มต้นจากความเข้าใจวิถีแบบเดิม ๆ ที่สูญหาย จากนั้นจึงออกแบบสิ่งใหม่เข้ามาทดแทน

“ปีนี้จะเป็นอีกปีที่ชี้วัดความหวัง เราได้สังเกตความเป็นมาเป็นไป และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคม แนวโน้มเหล่านี้จะกลายเป็นพิมพ์เขียวด้านวิธีคิด และสิ่งที่เรากำลังจะทำต่อไป สิ่งที่เราเรียนรู้ และทิ้งไว้เบื้องหลัง”นายดาวินกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo