General

‘วราวุธ’ มอบนโยบายจัดการ ‘ไฟป่า’ เปิดโครงการ ‘ชิงเก็บ ลดเผา’

กองทุนสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดสัมมนา มอบนโยบาย การบริหารจัดการ ไฟป่า และเปิดตัวโครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” และ โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ในการจัดการปัญหาไฟป่า และหมอกควัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม จำนวน 69 โครงการ วงเงิน 66 ล้านบาท

นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการหมอกควัน ไฟป่า อย่างมีประสิทธิภาพ อันนำไปสู่การบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีทส. เป็นประธาน เปิดการสัมมนา มอบนโยบายการบริหารจัดการไฟป่า และเปิดตัวโครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” และโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ ทสม. ในการจัดการปัญหาไฟป่า และหมอกควัน ของกองทุนสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัด ทส. และ เครือข่าย ทสม. เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างยั่งยืน และปรับเปลี่ยน เป็น “ชุมชนวิถีใหม่ ลดฝุ่น หยุดเผา เพื่อเรา เพื่อโลก”

ไฟป่า

นายวราวุธ เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วโลกในปัจจุบัน ทำให้มีการล็อกดาวน์ และการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด  ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง

อีกทั้ง ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาทิ การสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) การซื้อขายสินค้า และบริการผ่านระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Online Business) การเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Online Learning) เพิ่มมากขึ้น

สถานบริการ และสถานที่ท่องเที่ย วต้องปิดให้บริการ กลายเป็นชีวิต วิถีใหม่ หรือ New Normal ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดการฟื้นตัวมากขึ้น และการฟื้นตัวแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Recovery) เป็นแนวทางที่ประเทศไทยและทั่วโลก ให้ความสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายหลังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

ไฟป่า

S 333324302

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญ ที่ยังคงเวียนกลับมาทุกปี คือ ปัญหาฝุ่นละออง ไฟป่า และหมอกควัน ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ในการดำเนินชีวิตวิถีใหม่นี้ ทุกคนจะปรับตัวเพื่อป้องกัน และรองรับกับปัญหานี้ได้อย่างไร

สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะดำเนินกิจกรรมใด ๆ ล้วนส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้ทั้งสิ้น และบางครั้ง คนก็ทำร้ายสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว ทั้งทางตรง และทางอ้อม เช่น ปัญหาไฟป่า และหมอกควัน ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในวงกว้าง มีสาเหตุสำคัญมาจากการกระทำของมนุษย์

จากข้อมูลในปี  2563 ประเทศไทยเกิดจุดความร้อนสะสม (Hot Spot) ประมาณ 30,000 จุด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคเหนือ และเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มากที่สุด รองลงมา เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตร  ความรุนแรงของไฟป่าที่เกิดขึ้น ยังส่งผลให้เกิดพื้นที่เผาไหม้สะสมในวงกว้าง

ในปีที่ผ่านมา ภาคเหนือมีพื้นที่เผาไหม้สะสมมากถึง 9 ล้านไร่ และยังส่งผลให้เกิดปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ปกคลุมทั่วพื้นที่ ซึ่งหากนำมาคิดต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากไฟป่า และค่าเสียโอกาสด้านสิ่งแวดล้อมจากการสูญเสียป่า มีมูลค่ามากถึงประมาณ 5,000 – 10,000 ล้านบาทต่อปี

ไฟป่า

ดังนั้น การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมไฟป่าอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในปี 2564  นี้ ทส. ได้เร่งดำเนินมาตรการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา เช่น วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 เปิดศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ จัดตั้งโดยคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานศูนย์ฯ มีหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวัง รวบรวมข้อมูลของเครือข่ายจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ และรายงานสู่สาธารณะ

รวมทั้ง ติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปริมาณการจราจร สภาพอุตุนิยมวิทยา คุณภาพอากาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิกัดจุดความร้อนในพื้นที่ป่า การประเมินและรายงานปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 เชิงพื้นที่ โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม

“วันที่ 28 ธันวาคม 2563 ผมได้เป็นประธานเปิดโครงการลดปริมาณเชื้อเพลิง ชิงเก็บเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า นำร่องใน 10 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อป้องกัน และควบคุมไฟป่า และการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ไฟป่า รวมทั้งมีการส่งเสริมชุมชนให้นำเชื้อเพลิงไปแปรรูปสร้างรายได้อีกด้วย”

ทส. ยังได้ประสานขอความร่วมมือ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ไปยังหน่วยงานระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

  • ป้องกันไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5
  • ปลูกป่าต้นน้ำ
  • จัดทำที่ดินทำกิน
  • การขอใช้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ

ไฟป่า

ทั้งนี้ ทส. ยังคงต้องปฏิบัติงานเชิงรุก ภายใต้นโยบาย ทส. ยกกำลัง 2 บวก 4 อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการลดปริมาณเชื้อเพลิง (Fuel Reduction) ซึ่งเป็นเทคนิคการลดความรุนแรงของไฟป่า ด้วยวิธีการ “ชิงเก็บ” ทั้งในพื้นที่ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ รวมทั้ง ป่าชุมชนในพื้นที่

สิ่งสำคัญของการ “ชิงเก็บ” ก็เพื่อให้มีการนำเชื้อเพลิงที่เก็บได้ ไปสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น ผลิตเป็นถ่านอัดก้อน ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง นำไปทำปุ๋ยหมัก หรือ นำไปทำเป็นบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ

“เราต้องสร้างความเข้าใจ ให้ประชาชนได้ตระหนักว่า สิ่งที่กำลังเผา สามารถนำไปแปรรูปได้ และเทคนิควิธีการ “ชิงเก็บ” นี้ จะช่วยลดการเผา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาฝุ่นละอองจากหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo