COLUMNISTS

บริษัทของคุณเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต

Avatar photo
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารธุรกิจ บริษัท สลิงชอท คอนซัลทิง จำกัด
290

Are you a past, present, or future?

บริษัทที่เป็นอนาคต…ใช้ความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ

บริษัทที่เป็นอนาคต…ให้บริการมากกว่าที่ลูกค้าคาดว่าจะได้รับเท่านั้น

บริษัทที่เป็นอนาคต…ดำเนินธุรกิจตรงตามภาพลักษณ์ที่ประชาสัมพันธ์ออกไป

บริษัทที่เป็นอนาคต…ปรับองค์กรตามความหมายของการทำงานที่เปลี่ยนไป

บริษัทที่เป็นอนาคต…สร้างองค์กรให้คนเป็นเจ้านายหุ่นยนต์

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา Dell Technology ร่วมกับ Institute for the Future ได้เผยแพร่รายงาน The next era of human & machine partnership ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานในปี 2030 ไว้อย่างน่าสนใจว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเปิดโอกาสสำคัญให้มนุษย์ปรับโฟกัสและทำเฉพาะสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดเท่านั้น โดยลดงานที่เรากำลังแบกรับอยู่ที่ทำให้เราใช้ชีวิตเสมือนหุ่นยนต์อยู่ทุกวันนี้ออกไป

หุ่นยนต์ไม่ได้มาทำให้การทำงานของคนสิ้นสุดลง แต่จะทำให้เปลี่ยนไปอย่างมาก คนถูกสร้างให้เป็นผู้คิดค้นและสร้างสรรค์

ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีจึงไม่เพียงแต่ทำให้องค์กรคล่องตัวขึ้นหรือแข่งขันได้มากขึ้น แต่ยังทำให้สามารถลดหรือโยกย้ายค่าใช้จ่ายเรื่องคนไปไว้ในส่วนที่จะสามารถสร้างคุณค่าหรือกำไรได้มากขึ้นอีกด้วย

องค์กรแห่งอนาคต ต้องเร่งสร้างขีดความสามารถใหม่ที่จะสามารถวิเคราะห์และปรับเปลี่ยนงานที่ไม่เคยมีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างชาญฉลาด เพื่อให้อยู่รอดและสามารถเป็นผู้นำในปี 2030 ได้

ลักษณะขององค์กรแห่งอนาคตสามารถสรุปได้ 5 อย่าง ได้แก่

1. ใช้ความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Business-Driven Security)

บริษัทในอดีตใข้เทคโนโลยีในการทำให้งานง่ายขึ้น บริษัทในปัจจุบันใช้เทคโนโลยีในการตอบสนองธุรกิจให้ดีขึ้น บริษัทในอนาคตในเทคโนโลยีในการสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า (customer’s trust)

ผู้อำนวยการจากบริษัท DataRaze นาย Steve Inglessis กล่าวว่า การสอนปัญญาประดิษฐ์ให้สอดส่องและรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องที่จะพบมากขึ้น

นอกจากนี้ ความสามารถในการสื่อสารโดยเฉพาะเมื่อเกิดความไม่ปลอดภัย จะกลายเป็นความสามารถที่สำคัญอย่างมากต่อกลยุทธ์ดังกล่าว

2. ให้บริการมากกว่าที่ลูกค้าคาดว่าจะได้รับเท่านั้น (Eliminate Latencies)

บริษัทที่เป็นอนาคตต้องสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการแก้ปัญหา เสนอบริการใหม่ๆอย่างรวดเร็ว หรือสร้างวงจรการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยตนเองได้

ความผิดพลาดหรือล่าช้าทางการให้บริการจะกลายเป็นสิ่งที่ลูกค้ายอมรับไม่ได้อีกต่อไป ความสม่ำเสมอในการสร้างประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าในการมาใช้บริการ (Customer Experience) จะกลายเป็นความสามารถในการแข่งขันในอนาคตมากขึ้น

3. ดำเนินธุรกิจตรงตามภาพลักษณ์ที่ประชาสัมพันธ์ออกไป (Algorithmic Branding)

การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันได้ทำให้หลายบริษัทประสบความสำเร็จจากภายนอก แต่ในปี 2030 องค์กรที่ไปได้ไกลกว่าคู่แข่งจำเป็นต้องมีความสามารถ และความสอดคล้องทั้งภายในและภายนอก โดยปรับเปลี่ยนนโยบาย วิธีการทำงาน ขั้นตอน หรือระบบ ให้ตอบสนองกับแบรนด์และค่านิยมที่ยึดถือและสือสารออกไป โดยเฉพาะเรื่องความแตกต่างทางเพศและเชื้อชาติ

4. ปรับองค์กรตามความหมายของการทำงานที่เปลี่ยนไป (Diversifying Value of Work)

เมื่อการมาทำงาานไม่ได้เป็นแค่การหาเลี้ยงชีพอีกต่อไป แต่การทำงานจะกลายเป็นโอกาสในการเรียนรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลงสำหรับผู้ที่เติบโตมาในยุคดิจิทัล (Digital Natives)

บริษัทในอนาคตจำเป็นต้องให้คำนิยามของการทำงานใหม่และปรับเปลี่ยนนโยบายโดยเฉพาะการบริหารคนที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้สามารถดึงดูดและรักษาคนและอยู่รอดในอนาคตได้

5. สร้างองค์กรให้คนเป็นเจ้านายหุ่นยนต์ (Inspire Innovation)

การมีเทคโนโลยีมาช่วยทำงานเป็นโอกาสให้มนุษย์ได้กลับมาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในที่ทำงาน บริษัทแห่งอนาคตจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างหรือกระบวนการ ที่ให้พื้นที่คนในการบริหารหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น เช่น การป้อนข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน การกำหนดแนวทางปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ การกำหนดสมมติฐานที่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อที่เราจะได้รับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในการทำงานให้ชาญฉลาดกว่าหุ่นยนต์ได้

ในขณะเดียวกัน สำหรับพนักงาน ซึ่งอนาคตจะมีสัดส่วนของฟรีแลนซ์และพนักงานที่เปลี่ยนงานบ่อยมากขึ้น ต้องพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ในทุกขณะ (In the Moment Learning) พนักงานที่สามารถเรียนรู้ได้เองในทุกขณะ จะมีค่ามากกว่าพนักงานที่มีความรู้อยู่แล้ว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? นั่นเพราะธุรกิจหรืองานที่จะเกิดในอนาคตเป็นสิ่งที่ปัจจุบันยังไม่มีการสอนและเรากำลังเรียนรู้สิ่งที่เก่าลงทุกวัน ดังนั้นความสามารถในการเรียนรู้ในทุกขณะจึงสำคัญกว่าความรู้ที่ท่วมหัวจริงหรือไม่?