Economics

สภาพัฒน์ เผยหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 4 /63 ขยับแตะ 86.6% ต่อจีดีพี

“สภาพัฒน์” แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/63 ปรับตัวดีขึ้น จ้างงานเพิ่มขึ้น ว่างงานลดลง ขณะที่หนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 13.77 ล้านล้านบาท พุ่ง 86.6% ต่อจีดีพี

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/63 สถานการณ์ด้านแรงงาน มีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้น 39.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 38.0 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 2.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน, การจ้างงาน 38.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.2% จากการขยายตัวของการจ้างงานภาคเกษตรกรรม 3.4%, อัตราการว่างงานเท่ากับ 1.86% ลดลงจาก 1.95% และ 1.90% ในไตรมาส 2/63 และไตรมาส 3/63 ตามลำดับ แม้การว่างงงานในระบบลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงงานต่อผู้ประกันตนอยู่ที่ 3.6% แต่ผู้ว่างงานรายใหม่ปรับตัวลดลง สะท้อนการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

ดนุชา พิชยนันท์
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ขณะที่หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 3.9% จาก 3.8% ในไตรมาสก่อน โดยคิดเป็นสัดส่วน 86.6% ต่อจีดีพี (GDP)

ส่วนสถานการณ์ด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ด้านสุขภาพและการเจ็บป่วย พบการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง 51.9%, ส่วนการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง 3.2%, คดีอาญาลดลง 23.7% และอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลง 10.7%

ทั้งนี้ ภาพรวมตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่ม และชั่วโมงการทำงานลดลง โดยแรงงานในปี 2563 มีทั้งสิ้น 38.5 ล้านคน ขยายตัว 1.0% จากการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้อยู่นอกกำลังแรงงานประมาณ 1 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในกลุ่มอาชีพอิสระ, การจ้างงานขยายตัว 0.2%

โดยเฉพาะการขยายตัวในสาขาการค้าส่ง/ค้าปลีก และสาขาก่อสร้างที่ขยายตัวดีในช่วงครึ่งหลังของปี ตามมาตรการผ่อนคลายการควบคุมการแพร่ระบาด และสาขาการขนส่งที่ ได้รับประโยชน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคจากกการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าของประชาชน, อัตราการว่างงานปี 2563 ยังอยู่ในระดับสูงที่ 1.69% เพิ่มจากปี 2562 ที่ 0.98% หรือมีจำนวนผู้ว่างงานเฉลี่ย 6.51 แสนคน

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนช่วงครึ่งปีแรกของ 2563 พบว่า ครัวเรือนมีรายได้ 23,615 บาท ปรับตัวลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 26,371 บาท หรือมีรายได้ลดลง 10.45%

สำหรับปัจจัยเสี่ยงด้านแรงงานปี 2564 ได้แก่ความไม่แน่นอนของการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดในรอบแรก ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระจะมีรายได้ลดลงจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มทักษะด่านเทคโนโลยีดิจิทัล ควรมีการสนับสนุนการพัฒนาทักษะ ปรับทักษะ และสร้างทักษะใหม่ให้กับแรงงาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo