Wellness

‘เชื้อราแมว’ ภัยที่ต้องระวัง ติดต่อจากสัตว์เลี้ยง สู่คนได้

บรรดาผู้รักสัตว์ ที่คลุกคลีเล่นหัวอย่างสนิทชิดเชื้อ กับสัตว์เลี้ยง ทั้งที่เป็นของตัวเอง ของเพื่อน หรือกระทั่งสัตว์จรจัดทั้งหลาย ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะสัตว์เหล่านี้ อาจเป็นโรคที่ติดต่อสู่คนได้ รวมถึง โรคที่กำลังพูดถึงกันอยู่ในขณะนี้ อย่าง “เชื้อราแมว”

เชื้อราแมว คืออะไร

จริง ๆ แล้ว เชื้อราแมว มีหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นชนิด Microsporum canis  เชื้อราที่ทำให้แมวเป็นโรคผิวหนัง เกิดจากความชื้นสะสม ทำให้แมวขนยาวมีความเสี่ยงเป็นเชื้อรา มากกว่าแมวขนสั้น

บริเวณของผิวหนังแมวที่ติดเชื้อ จะมีขนหลุดเป็นหย่อม ๆ ผิวหนังแดง แห้ง และอาจลอกเป็นขุย ๆ หรือตกสะเก็ดร่วมด้วย หากไม่รีบรักษาแล้ว เจ้าของติดเชื้อราจากแมวผ่านการสัมผัส อุ้ม ลูบ กอด หอม ก็จะทำให้มนุษย์ติดเชื้อรานี้ จนเป็นเหตุให้เป็นโรคผิวหนังในแบบเดียวกันได้

นอกจากแมวแล้ว สัตว์เลี้ยงมีขนอื่น ๆ อย่าง สุนัข กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ และสัตว์เลี้ยงขนยาวประเภทอื่น ๆ ก็สามารถติดเชื้อราที่ผิวหนังได้ด้วยเช่นเดียวกัน

shutterstock 1699068043

กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อราแมว

  • เด็กเล็ก
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่ภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรง
  • เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง ทั้ง หมา แมว และสัตว์มีขนประเภทอื่นๆ
  • ชอบเล่นกับสัตว์ต่าง ๆ และไม่ระมัดระวังความสะอาด เช่น กอด หรือสัมผัสกับสัตว์ แล้วไม่ล้างมือ เป็นต้น

อาการของคนที่ติด เชื้อราแมว

จะพบว่ามีผื่นแดงเป็นวง ๆ รอบ ๆ มีขุย ๆ ขึ้นตามร่างกาย อาจพบว่าเป็นผื่นแดง ๆ วงเล็ก ๆ หรือวงใหญ่ ๆ วงเดียว หรืออาจเกิดขึ้นเป็นวง ๆ หลายวง ตามแขน ขา ใบหน้า มือ เท้า หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่สัมผัสกับแมว

ผื่นแดง ๆ ที่เกิดขึ้นจะทำให้รู้สึกคัน อยากเกาตลอดเวลา หากใช้นิ้วเกาที่ผื่นแดง แล้วไปเกาที่ผิวหนังส่วนอื่นต่อ อาจทำให้ผิวหนังส่วนนั้น ๆ ติดเชื้อรา จนเป็นผื่นแดงเพิ่มขึ้นได้อีก

เชื้อราแมว

วิธีรักษาเชื้อราแมวในคน

ปกติแล้ววิธีการรักษาเชื้อราแมว ทั้งในแมว และในคนจะคล้าย ๆ กัน นั่นคือการทายาฆ่าเชื้อรา ในกรณีที่มีผื่นแดงไม่มากนัก หากทายาอย่างต่อเนื่องราว 3 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้นได้เอง แต่หากพบว่าเป็นผื่นแดงหลายที่ทั่วร่างกาย อาจจะให้ยาฆ่าเชื้อราไปทา ควบคู่ไปกับการทานยาปฏิชีวนะ โดยต้องทายา และทานยาอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 3 สัปดาห์เช่นเดียวกัน

ส่วนใหญ่แล้ว ผื่นแดงจะค่อย ๆ หายไป แต่จะทิ้งรอยดำเอาไว้ราว 2-3 เดือน จนกว่ารอยดำเหล่านี้จะค่อย ๆ จางหายไปเอง

ในกรณีที่รอยจำไม่จางลง หรือจางช้า อาจเกิดจากการที่ ผู้ป่วยเกิดผื่นแดงจากเชื้อราซ้ำ เพราะภูมิต้านทานของตัวผู้ป่วยเองไม่มากเพียงพอ รวมไปถึงการรักษาความสะอาด และการดูแลรักษาแมวของตัวเอง ให้หายขาดจากเชื้อรา ควบคู่กันไปด้วย

หากแมวที่เลี้ยงยังคงเป็นโรคเชื้อราอยู่ เจ้าของที่คลุกคลีใกล้ชิดก็อาจจะกลับมาติดเชื้อราอีกครั้งได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการขายยาฆ่าเชื้อราที่ผิวหนังตามร้านขายยาต่าง ๆ แต่แนะนำให้พบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยโดยละเอียด ก่อนซื้อยามาทาเอง เพราะเราอาจเลือกยาทาที่ไม่เหมาะกับโรคที่เรากำลังเป็น หรืออาจเกิดอาหารข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาอย่างที่ไม่ทันระวังตัวก็ได้

เชื้อราแมว

ป้องกันตัวเองจากเชื้อราแมว

หากพบว่าสัตว์เลี้ยงเป็นโรคผิวหนัง มีร่องรอยขนร่วงเป็นหย่อม ๆ พบว่ามีผื่นแดง หรือรอยแดง ๆ ขุย ๆ เป็นวงที่ผิวหนังของสัตว์เลี้ยง ควรพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน และไม่เข้าไปใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง จนกว่าเชื้อราจะหาย

หลังเล่น สัมผัส หรือใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง ควรล้างมือ หรือทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสสัตว์เลี้ยงให้สะอาดทุกครั้ง (และควรทำความสะอาดทันที ไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน)

ดูแลทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ หลังอาบน้ำเช็ดตัว เป่าขนให้แห้งทุกครั้ง

ทำความสะอาดสิ่งของภายในบ้านที่สัตว์เลี้ยงสัมผัส เช่น โซฟา เก้าอี้ โต๊ะ หมอน ผ้าห่ม โดยเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นผ้า ๆ นวม ๆ อาจนำไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อราได้

ไม่คลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิดมากเกินไป เช่น ปล่อยให้สัตว์เลี้ยง เลียหน้า เลียปาก พาสัตว์เลี้ยงมานอนด้วยบนเตียงเดียวกัน เป็นต้น

ใช้แชมพู หรือครีมอาบน้ำ ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราให้กับสัตว์เลี้ยง

นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อรา

เจ้าของสัตว์เลี้ยงก็ควรออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ดีอยู่เสมอ จะได้ไม่ติดเชื้อโรคได้ง่ายๆ

หากสงสัยว่าจะติดเชื้อราจากสัตว์เลี้ยง ควรไปพบแพทย์พร้อมนำสัตว์เลี้ยงไปด้วย

เชื้อราแมว

ข้อมูล : รามา แชนแนล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo