Economics

หลบหน่อย ‘รถไฟ’ มา!! สั่งเบรกแผนลงทุนทางด่วน-มอเตอร์เวย์

“คมนาคม” สั่งเขย่าแผน “มอเตอร์เวย์ – ทางด่วน” 2.6 ล้านล้านใหม่ เพื่อหลีกทางให้ “ราง” เป็นระบบขนส่งเบอร์หนึ่ง หวั่นลงทุนซ้ำซ้อนทำเจ๊ง

S 25796676

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมการบูรณาการแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ระยะ 20 ปี ของกรมทางหลวง (ทล.) และแผนแม่บททางพิเศษ (ทางด่วน) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วันนี้ (26 ต.ค.) ว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กลับไปบูรณาการแผนแม่บทมอเตอร์เวย์จำนวน 21 โครงการ วงเงิน 2.1 ล้านล้านบาทของกรมทางหลวงและแผนแม่บททางด่วน 16 เส้นทาง วงเงิน 4.9 แสนล้านบาทของการทางพิเศษฯ อีกครั้ง เพื่อให้การลงทุนไม่เกิดความซ้ำซ้อน เพราะแผนการลงทุนของการทางพิเศษฯ ในปัจจุบันมุ่งหน้าออกนอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากขึ้น

แนวทางการปรับแผน คือ การลงทุนมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวงจะเน้นการเชื่อมโยงระหว่างเมือง ส่วนการลงทุนของการทางพิเศษฯ ต้องเน้นแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่เส้นทางของทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องเชื่อมต่อกัน

ทาง รถไฟ1

นอกจากนี้ สนข. ต้องพิจารณาว่า การลงทุนทางด่วนและมอเตอร์เวย์แต่ละเส้นทาง เป็นการแข่งขันกับเส้นทางรถไฟหรือไม่ เพราะถ้าเกิดการแข่งขัน ประเทศไทยจะเปลี่ยนโหมดการขนส่งจากถนนไปสู่ระบบรางตามเป้าหมายไม่ได้ ขณะเดียวกันต้องพิจารณาการลงทุนถนนขนาด 4 ช่องจราจรและ 6 ช่องจราจรว่า มีความคุ้มค่าและจำเป็นแค่ไหน โดยการทางพิเศษฯ จะต้องนำข้อสรุปดังกล่าวไปปรับแผนแม่บท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 6 เดือนข้างหน้า

“ต้องจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน เพราะถึงจะใช้แหล่งเงินทุนจากพีพีพีหรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐานก็จริง แต่ก็ต้องใช้งบประมาณเวนคืนจากรัฐบาลอยู่ดี โดยก็ให้แนวทางการจัดลำดับความสำคัญไปว่า โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนคือ 1 โครงการแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ และ 2 โครงการที่เข้าไปรองรับอีอีซี” นายอาคม กล่าว

สำหรับโครงการทางด่วนและมอเตอร์เวย์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและจะเดินหน้าการลงทุนอย่างแน่นอน ได้แก่ มอเตอร์เวย์จากพัทยาไปถึงท่าเรือมาบตาพุด, การขยายทางด่วนบูรพาวิถีไปถึงถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี, มอเตอร์เวย์สาย 61 (M61) จาก จ.ชลบุรีไป จ.นครราชศรีมา ซึ่งเบื้องต้นขอให้ออกแบบเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงถึงตอนใต้ของ จ.บุรีรัมย์ ด้วย, มอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-วังมะนาว, ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ, ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก (ถนนเกษตร-นวมินทร์) , ส่วนเส้นทางรังสิต-นครนายก ก็ให้พิจารณาว่าหน่วยงานใดพร้อมและใช้เม็ดเงินลงทุนน้อยที่สุด

S 65896531

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมจะให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนระบบรางเป็นอันดับแรก เพราะรัฐบาลใช้เงินลงทุนระบบรางไปเป็นจำนวนมากและเดินหน้าโครงการหมดแล้ว ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ด้านการลงทุนมอเตอร์เวย์ก็ลงทุนเท่าที่จำเป็น ไม่เช่นนั้นก็จะขาดทุนทั้งระบบราง ทั้งมอเตอร์เวย์

สำหรับบริเวณที่มีเส้นทางทับซ้อนระหว่างรถไฟและมอเตอร์เวย์มีจำนวนมาก เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) , เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, ภาคตะวันออก แต่โครงการมอเตอร์เวย์บางสาย เช่น มอเตอร์เวย์ชลบุรี-ภาคอีสาน มีระยะทางสั้นๆ และไม่ทับซ้อนกับเส้นทางรถไฟ จึงเป็นโครงการลงทุนที่น่าสนใจ ช่วยส่งเสริมการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า

“ทั้งหมดไม่ได้ดูแค่โครงข่ายทางหลวง ทางด่วน มอเตอร์เวย์ แต่ให้เอาทางรถไฟทางทาบด้วยทั้งหมด ทั้งทางคู่ ทั้งไฮสปีด เพราะมอเตอร์เวย์บางเส้นออกแบบให้รองรับรถบรรทุก เช่น ปราจีนบุรี ถ้าทำมอเตอร์เวย์ไปรับก็เท่ากับเราส่งเสริมการขนส่งทางรถบรรทุก เพราะฉะนั้นเส้นไหนมีรถไฟ ให้ใช้รถไฟเป็นหลัก รถไฟมันขนได้เยอะและ สนข. มีแผนก่อสร้างท่าเรือบก เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างรถบรรทุกและรถไฟอยู่แล้ว” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมแผนแม่บทของการทางพิเศษฯ มีโครงการลงทุนทั้งหมด 37 โครงการ แต่ต่อมาโดนตัดเหลือ 16-17 โครงการ และในการประชุมวันนี้ (26 ต.ค.) ก็ได้ตัดโครงการที่ซ้ำซ้อนกับมอเตอร์เวย์ออกไปอีก 3 โครงการ

Avatar photo