Economics

ปั้นแผน ‘เดินทางทางน้ำ’ พัฒนาเส้นทางเรือโดยสารคลองกรุงเทพฯ – ปริมณฑล

สนข. ลุยปั้นแผน “เดินทางทางน้ำ” สนองนโยบาย “เสี่ยโอ๋” เล็งพัฒนาเส้นทางเรือโดยสารคลอง กรุงเทพฯ – ปริมณฑล ส่งเสริมอนุรักษ์และท่องเที่ยว

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สำนักงงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา โครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น ครั้งที่ 1 วันนี้ (22 ก.พ.) โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คนว่า

เดินทางทางน้ำ เรือโดยสาร กรุงเทพฯ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพิ่มบริการการขนส่งในแม่น้ำ ลำคลองเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน

สนข. จึงได้ดำเนินการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาด้านการ เดินทางทางน้ำ รองรับความต้องการในการเดินทางทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงศึกษาทบทวน ข้อมูสถานะภาพการเดินทางทางน้ำของประเทศไทย และในประเทศที่มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice)

นอกจากนี้ สนข. จะจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำฯ และข้อเสนอแนะทิศทางการพัฒนาด้านการเดินทางทางน้ำให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมือง การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งสาธารณะ และการเชื่อมต่ออย่างบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานได้อย่างมีเหมาะสม ตลอดจนให้มีต้นแบบในการพัฒนาเส้นทางเดินเรือในคลองที่มีตอบสนองทั้งการคมนาคม การอนุรักษ์ และการท่องเที่ยว

shutterstock 1846300570

ปัจจุบัน “เรือโดยสาร” 77 กม. เชื่อม 14 สถานีรถไฟฟ้า

นายปัญญากล่าวต่อว่า ปัจจุบันมี เรือโดยสาร สาธารณะให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 5 เส้นทาง มีระยะทางรวม 77 กิโลเมตร ประกอบด้วย

  • เส้นทางของเรือด่วนเจ้าพระยา และเรือไฟฟ้าให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยา
  • เส้นทางในคลองแสนแสบ
  • เส้นทางในคลองผดุงกรุงเกษม
  • เส้นทางในคลองภาษีเจริญ
  • เส้นทางในคลองประเวศบุรีรมย์ (คลองพระโขนง)

ทั้งนี้ พบว่า มีท่าเรือที่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันในรัศมี 500 เมตร ประกอบด้วย

  • ท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน จำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีอโศก สถานีหัวลำโพง สถานีบางไผ่ สถานีบางหว้า สถานีเพชรเกษม 48 สถานีภาษีเจริญ สถานีสะพานพระนั่งเกล้า สถานีบางโพ สถานีสนามไชย และสะพานตากสิน
  • ท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีราชเทวี และสถานีบางหว้า
  • ท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 2 สถานี ได้แก่สถานีมักกะสัน สถานีรามคำแหง

อย่างไรก็ตาม การให้บริการเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำและคลอง ยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านกายภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ เช่น การรุกล้ำลำคลอง ปัญหาของประตูระบายน้ำ หรือสะพานกีดขวางการเดินเรือ ปัญหาด้านการให้บริการเดินเรือโดยสาร เช่น เรือวิ่งเสียงดัง เรือปล่อยควันดำ หรือปัญหาด้านความปลอดภัยกรณีมีผู้โดยสารหนาแน่นในช่วงเวลาเร่งด่วน

รวมทั้งปัญหาด้านท่า เรือโดยสาร เช่น ท่าเรือชำรุด ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกที่ท่าเรือ ตลอดจนปัญหาด้านการเข้าถึงท่าเรือและเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น เช่น ทางเดินเข้าออกท่าเรือมีสิ่งกีดขวางแสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่ปลอดภัย ไม่มีป้ายบอกเส้นทางเข้าออกท่าเรือ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่นห่างไกลจากท่าเรือ

เรือโดยสารคลองแสนแสบ
เรือโดยสารคลองแสนแสบ

นายปัญญา กล่าวตอนท้ายว่า สนข. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว จึงได้จัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น (W – MAP) ในลักษณะ ล้อ – ราง – เรือ เพื่อเป็นการยกระดับการเดินทางทางน้ำ ให้ทางเลือกในการสัญจรและท่องเที่ยว รองรับความต้องการเดินทาง และการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน

สำหรับการจัดสัมมนาฯ ในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้น เกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของการเดินทางทางน้ำ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ จากผู้เข้าร่วมสัมมนา

ซึ่ง สนข. จะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ไปใช้ประกอบการศึกษาวิเคราะห์ในโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการ เดินทางทางน้ำ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่นต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo