Business

อานิสงส์เอฟทีเอ ส่งออกไอศกรีมไทย ขยับขึ้นอันดับ 4 ของโลก

ส่งออกไอศกรีมไทย ขยับขึ้นอันดับ 4 ของโลก อานิสงส์เอฟทีเอ หนุนเติบโตต่อเนื่อง แนะใช้ความได้เปรียบด้านวัตถุดิบ สร้างความหลากหลายให้สินค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามการใช้ประโยชน์ จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของสินค้าต่าง ๆ โดยล่าสุดพบว่า ไอศกรีม เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการขยายตัว ของการส่งออก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ส่งออกไอศกรีมไทย ขยับขึ้นอันดับ 4 ของโลก

ส่งออกไอศกรีมไทย

ทั้งนี้ ไอศกรีม เป็นสินค้าที่ เอฟทีเอ มีส่วนสำคัญ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากสินค้าไอศกรีม และน้ำแข็งอื่น ๆ ที่บริโภคได้ ทุกรายการที่ส่งออกจากไทย ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจาก 17 ประเทศคู่เอฟทีเอแล้ว ได้แก่ อาเซียน จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี เปรู และฮ่องกง

ปัจจุบัน เหลือเพียงญี่ปุ่น ประเทศเดียว ที่ยังเก็บภาษีนำเข้า สินค้าไอศกรีม และน้ำแข็งอื่น ๆ ที่บริโภคได้ที่อัตรา 21-29.8%

ทั้งนี้ ในปี 2563 ไทยส่งออกไอศกรีมไปยังประเทศคู่ เอฟทีเอ มีมูลค่า 75.6 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3% คิดเป็น 85.1% ของการส่งออกไอศกรีมทั้งหมดของไทย โดยส่งออกไปอาเซียน 63.5 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 1% มีมาเลเซียเป็นตลาดส่งออกหลัก เติบโตเพิ่ม 24% เกาหลีใต้ 5.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 275% ออสเตรเลีย 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 328% และฮ่องกง 1.1 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11%

ส่งออก

ขณะเดียวกัน ไทยยังขยับอันดับขึ้นมา เป็นประเทศผู้ส่งออกไอศกรีม สูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร และเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียนในปี 2563 ด้วย

นางอรมนกล่าวว่า ในระยะยาว คาดว่า อุตสาหกรรมไอศกรีมของไทย ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ด้วยศักยภาพการผลิตสินค้า ข้อได้เปรียบจากสิทธิประโยชน์ทางภาษี ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี เอฟทีเอ ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบที่หลากหลาย ส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตต่ำ

จากความได้เปรียบดังกล่าว จึงถือว่าไทยมีความพร้อม ที่จะก้าวไปเป็น ศูนย์กลางอุตสาหกรรมไอศกรีม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ และยังพบว่า ปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตไอศกรีม รายใหญ่ของโลก ต่างเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อใช้ไทย เป็นศูนย์กลางการผลิต และส่งออกไอศกรีม ในภูมิภาค

ดังนั้น ผู้ประกอบไทย ควรให้ความสำคัญ กับการรักษาคุณภาพมาตรฐาน ในการผลิต พัฒนาสินค้า คิดค้นรสชาติไอศกรีมที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น การเพิ่มส่วนผสมผลไม้เมืองร้อน กลุ่มมะพร้าว มะม่วง ทุเรียน ไอศกรีมจากนมถั่วเหลือง

นำเข้า

นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาไอศกรีมไขมันต่ำ ไอศกรีมน้ำตาลน้อย ตลอดจนไอศกรีม ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรบำรุงสุขภาพ เพื่อสร้างจุดขายไอศกรีมไทย ในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ ที่นิยมอาหารเพื่อสุขภาพ และทำให้ไอศกรีมของไทย เป็นที่รู้จัก และครองใจผู้บริโภค ในตลาดโลกยิ่งขึ้น

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกปีนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินทิศทางการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2564 มีโอกาสโตได้กว่า 3.4% จากกิจกรรมเศรษฐกิจการบริโภคทั่วโลก ที่ฟื้นตัว กำลังผลิตของไทยเริ่มกลับมา และราคาน้ำมัน ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น

แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง จากค่าเงินบาทที่แข็งตัว ค่าขนส่งเดินเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น จากตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และนโยบายการค้าต่างประเทศ แนะผู้ประกอบการ ปรับธุรกิจรองรับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป หนุนภาครัฐดำเนินการ เจรจาการค้าระหว่างประเทศให้รวดเร็ว เพื่อให้ไม่เสียเปรียบกับคู่แข่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo