Business

IRPC ตั้งเป้าพลิกมีกำไรปี 2564 ลุยพัฒนาวัตถุดิบผลิต ‘สินค้าการแพทย์’

IRPC ตั้งเป้าผลประกอบการปี 2564 พลิกมีกำไร ลุยเปลี่ยนวิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาส พัฒนาวัตถุดิบผลิต “หน้ากากอนามัย – ถุงมือแพทย์”

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจร เปิดเผยระหว่างงานแถลงข่าวประกาศยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนองค์กร วันนี้ (18 ก.พ.) ว่า IRPC ตั้งเป้าจะพลิกผลประกอบการขาดทุนในปี 2562 และ 2563 เป็นมีกำไรในปี 2564

บริษัท IRPC 2564

โดยช่วง 6 สัปดาห์แรกของปีนี้ ผลประกอบการออกมาดีกว่าเป้าหมาย ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ภาวะตลาดและขีดความสามารถขององค์กรที่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว

เราก็มั่นใจว่า ไตรมาสแรกและทั้งปีนี้ ผลประกอบการของเราจะมีกำไร และน่าจะเป็นที่น่าพอใจ ที่ผมพูดไม่ได้ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะเราเคยมีประสบการณ์มาแล้วในปลายปี 2019 และปี 2020

นายชวลิตกล่าวถึงแนวโน้มราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีว่า ในปี 2564 เครือ ปตท. คาดว่าน้ำมันดิบดูไบจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 47 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบมีแนวโน้มสูงกว่าคาดการณ์ โดยไต่ระดับไปที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว

ด้านราคาน้ำมันดีเซลและเบนซินก็ดีขึ้นจากปี 2563 เพราะมีความต้องการมากขึ้นและกำลังการผลิตไม่ล้นตลาด แต่ส่วนต่างราคา (สเปรด) น้ำมันดีเซลยังถือว่าอยู่ในภาวะกดดันถ้าเทียบกับเมื่อปี 2562 ส่วนราคาน้ำมันเตาก็ทรงตัวในระดับค่อนข้างดี ซึ่งในปี 2564 ตั้งเป้าว่าโรงกลั่นจะมีกำลังการผลิตเฉลี่ย 1.9 แสนบาร์เรลต่อวัน

ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในปี 2564 มีแนวโน้มดีขึ้นจากปี 2563 เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ลดความเข้มงวดในการล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจมหภาคปรับตัวดี โดยผลิตภัณฑ์ PP และ HDPE แม้จะมีความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมน้อยลง แต่ได้รับอานิสงค์จากภาคสาธารณสุข ที่มีความต้องการพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastic) เพื่อใช้ป้องกันไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาก

ด้านผลิตภัณฑ์ ABS ก็ยังมีความต้องการจากอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากประเทศมาเลเซียและประเทศจีนในปีนี้

PlasticType PP e1613645405815

IRPC ลุยพัฒนาวัตถุดิบผลิต “หน้ากากอนามัย – ถุงมือแพทย์”

สำหรับช่วง 5 ปีข้างหน้า ระหว่างปี 2564-2568 IRPC วางงบประมาณในการลงทุนอยู่ที่ 36,000 ล้านบาท และจากสถานการณ์โควิด-19 บริษัทก็ได้เตรียมรับมือกับความท้าทายดังกล่าว ด้วยการปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้างต้นทุน รูปแบบการทำธุรกิจและวิธีการทำงานที่เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น (Human centric)

ทั้งนี้ IRPC ได้กำหนดเป้าหมายและวิธีการเดินหน้าสู่ความสำเร็จด้วยกลยุทธ์ 3S ได้แก่

  • Strengthening the core

การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจหลัก ด้วยแผนการลงทุนในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 (Euro V) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2566

นอกจากนี้ ได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการทำงาน IRPC 4.0 เป็นการนำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กร โดยใช้ระบบดิจิทัล (Customer Centric Digital) ที่ทำให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าและตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการเลือกซื้อน้ำมันดิบ วัตถุดิบ การวางแผนการผลิตและการวางโครงสร้างด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรสู่ระบบดิจิทัล

IRPC ยังให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างต้นทุน และการเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรบุคคลให้สอดรับกับการเติบโตของธุรกิจในอนาคตอีกด้วย

  • Striving the growth

IRPC จะขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) เดินหน้าขยายธุรกิจด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรสู่ปิโตรเคมีปลายน้ำ ให้ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เช่น การร่วมมือกับ ปตท. ในการศึกษาการผลิต Melt Blown ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และ Nitrile Butadiene Latex วัตถุดิบที่นำไปผลิตเป็นถุงมือแพทย์ รวมถึงการร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP เพื่อผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

  • Sustaining the future

การพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการใช้พลังงานทดแทนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change)

การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในองค์กรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติสามารถนำกลับไปรีไซเคิล รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับลูกค้าและองค์กรต่างๆ เพื่อแสดงความรับผิดชอบในการนำพลาสติกกลับมารีไซเคิล (Zero Plastic Waste) และการสร้างคุณค่าให้กับสังคม (Creating Social Value) โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชสร้างห้องปฏิบัติการกลาง เพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo