Digital Economy

ก้าวสู่ ‘Industry 4.0’ อย่างไรในวันที่อุตสาหกรรมไทยยังแค่ 2.0

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดตัวเลขภาคอุตสาหกรรม พบอยู่ในกลุ่ม Industry 2.0 มากที่สุดถึง 61% ขณะที่มีเพียง 2% เท่านั้นที่ก้าวข้ามมาสู่ Industry 4.0 ได้สำเร็จ ชี้ 4 อุปสรรค์ขัดขวางคือ การขาดมาตรฐานกลางสำหรับภาคอุตสาหกรรม, ความกังวลด้านความปลอดภัย, การขาดตัวอย่างด้านการประยุกต์ใช้ขององค์กรที่ประสบความสำเร็จ และสุดท้ายคือเครื่องจักรยังเป็นรุ่นเก่า ไม่รองรับการเชื่อมต่อ IoT

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี

การเปิดเผยครั้งนี้มีขึ้นในงานสัมมนา Industrial IoT Expo 2018 ที่ทางสภาอุตสาหกรรมจัดขึ้นเพื่อหวังกระตุ้นให้ภาคการผลิตประยุกต์ใช้ IoT และปรับปรุงโรงงานให้ก้าวไปสู่ Factory Automation มากขึ้น โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมองว่า การปรับตัวของภาคการผลิตในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังถือว่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศรอบข้างเช่น จีน – เวียดนาม

“จีนทำไมโตเร็ว หัวเว่ยเมื่อสิบปีที่แล้วกับตอนนี้คนละเรื่องกันเลย หัวเว่ยวันนี้มีทุกโปรดักซ์ แถมมีพนักงานมากกว่า 1.7 แสนคน ซึ่งในจำนวนนั้น หัวเว่ยมีคน 7 หมื่นคนที่ดูเรื่อง R&D โดยเฉพาะ อันนี้เราก็ต้องหันกลับมามองว่าบริษัทของไทยเรามีทีม R&D เท่าไร” นายสุพันธุ์กล่าว

ส่วนเหตุผลที่ภาคการผลิตต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น นายสุพันธุ์ชี้ว่าเป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟน และทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ดังที่หลาย ๆ อุตสาหกรรมได้เคยยกตัวอย่างไว้มากมายแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้ผู้บริโภคในยุคใหม่ไม่ต้องการสินค้าที่ผลิตภายใต้แนวคิด Mass Production อีกต่อไป แต่จะมองหาสินค้าที่ผลิตขึ้นแบบเฉพาะตัว (Customization) มากขึ้น ซึ่งในจุดนี้คือความท้าทายของภาคการผลิตไทยในการรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้

gears 3385696 1280

ขณะที่ในตลาดโลก 76% ของภาคการผลิตมีการปรับตัว หรืออยู่ระหว่างการทรานสฟอร์มไปสู่ Smart factory กันแล้ว ยกตัวอย่างเช่น โรงงานของ GE ที่ตั้งอยู่ในเมือง Pune ประเทศอินเดีย โรงงานแห่งนี้มีอีกชื่อว่า Brilliant Factory เนื่องจากสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลาย ตั้งแต่เครื่องยนต์ของเครื่องบินเจ็ท ไปจนถึงส่วนประกอบของ หัวรถจักร หรือโรงงานของค่ายอาดิดาสในเยอรมนี ที่มีระบบ 3D Printing ทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าได้อย่างยืดหยุ่นตอบรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้

โดยหากประเมินเป็นระดับประเทศแล้วพบว่า ภาคการผลิตของประเทศต่าง ๆ ได้ปรับตัวไปสู่ Smart Factory แล้วในสัดส่วนดังต่อไปนี้

การปรับตัวสู่ Smart Factory ของประเทศต่าง ๆ 01

ตัวเลขการเปลี่ยนแปลงข้างต้นสอดคล้องกับผลการสำรวจของ World Economic Forum ที่พบว่า 84% ของผู้บริหารองค์กรคาดว่าจะ Industrial IoT จะเข้ามา Disrupt ภาคการผลิตภายใน 5 ปี

สำหรับภาคการผลิต ผลการประเมินศักยภาพอุตสาหกรรมภาคการผลิต การค้าและบริการ สถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กย. 2561 พบว่า ภาคการผลิตไทยกระจุกตัวอยู่ในโซน Industry 2.0 มากที่สุด

  • – Industry 1.0 มีส่วนแบ่ง 9%
  • – Industry 2.0 มีส่วนแบ่ง 61%
  • – Industry 3.0 มีส่วนแบ่ง 28%
  • – Industry 4.0 มีส่วนแบ่ง 2%

เมื่อเทียบในมุมของศักยภาพในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยพบว่า มีเพียง 4% ที่ผลิตโดยใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมด และมีการเชื่อมโยงข้อมูลตลอดทั้ง Supply Chain ผ่านระบบไอที ขณะที่ 45% มีการนำเทคโนโลยีการผลิตเข้ามาใช้ในบางส่วนของกระบวนการผลิต แต่ยังไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูล ในจำนวนนี้มีมากถึง 31% ที่ระบุว่ายังไม่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตเลย

นอกเหนือจากการปรับตัวช้าที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว นายสุพันธุ์กล่าวเพิ่มเติมว่า “จุดอ่อนของไทยที่ทำให้ไปต่อได้ยากมี 2 ข้อ คือไม่ค่อยจดลิขสิทธิ์ ทำให้เราถูกก๊อปปี้ได้ง่ายกว่า อีกข้อคือภาคธุรกิจไทยชอบพึ่งตัวเอง ไม่ค่อยพึ่งรัฐ พอเห็นว่าต้องลงทุนเพิ่มเป็นมูลค่าเยอะ ๆ ก็ไม่กล้าที่จะลงทุน ก็เลยไปก๊อปปี้งานคนอื่นมาแทน เพราะว่าถูกกว่า ในจุดนี้ต้องบอกว่าภาครัฐมีแล็บวิจัย มีเงินทุนให้การสนับสนุนรออยู่อีกมาก”

Avatar photo