COVID-19

‘การบินไทย’ พร้อมเหินฟ้าขน ‘วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก’ ส่งถึงสุวรรณภูมิ 24 ก.พ.

“การบินไทย” พร้อมเหินฟ้าขน “วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก” จากซิโนแวค ประเทศจีน ส่งถึงสนามบินสุวรรณภูมิก่อนเที่ยง 24 ก.พ.    

พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานในที่ประชุมคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทย ในฐานะสายการบินแห่งชาติ มีความยินดีที่กระทรวงสาธารณสุข มอบความไว้วางใจให้ปฏิบัติภารกิจขนส่งวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ล็อตแรกของประเทศไทย จำนวน 200,000 โดส จากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด (SINOVAC BIOTECH CO., LTD.) สาธารณรัฐประชาชนจีน มายังประเทศไทย

วัคซีนโควิด-19 การบินไทย

การบินไทย จะขนส่ง วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก มายังประเทศไทยด้วยเที่ยวบินขนส่งสินค้า (Cargo) เที่ยวบินที่ TG 675 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพฯ ทำการบินด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 ออกเดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 06.50 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงกรุงเทพฯ เวลา 11.05 น. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

บริษัทพร้อมปฏิบัติภารกิจสำคัญนี้อย่างครอบคลุมทุกด้าน โดยได้จัดเตรียมเครื่องบินลำตัวกว้าง สำหรับขนส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ชนิดปรับควบคุมอุณหภูมิเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิดังกล่าว สามารถขนส่งสินค้าที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิได้ระหว่าง -20˚C ถึง +20˚C รวมถึงอุปกรณ์บริการภาคพื้นเพื่อสนับสนุนเที่ยวบินขนส่งวัคซีน และพื้นที่คลังสินค้าปรับอากาศขนาดใหญ่ ที่มีความสะดวกในการ ส่งต่อวัคซีน ซึ่งจะช่วยปกป้องวัคซีนไม่ให้สัมผัสกับสภาวะอุณหภูมิสูงในระหว่างการส่งต่อ

ด้านบุคลากรมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการขนส่งและดูแลผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าประเภทที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า เช่น วัคซีน เวชภัณฑ์ เป็นอย่างดี และได้รับการรับรองมาตรฐาน GDP(Good Distribution Practice) ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยบริษัท SGS (Thailand) เป็นผู้ทำการตรวจสอบ และรับรอง

การบินไทยมีนโยบายการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการยึดมั่นในพันธกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม อีกทั้งมีความห่วงใยคนไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจขนส่ง วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกของประเทศไทย และมีความพร้อมในการขนส่งวัคซีนล็อตต่อๆไปเพื่อคนไทย รวมทั้งได้ร่วมสนับสนุนกิจการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

วัคซีนโควิด ก.พ. 64

เมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพิ่งกล่าวถึงความคืบหน้าของแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ระหว่างการแถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขอยืนยันว่าประเทศไทยจะได้รับ วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก จำนวน 2 แสนโดสก่อน โดยจะมาถึงสัปดาห์สุดท้าย ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้อย่างแน่นอน

เมื่อมาถึงประเทศไทยแล้ว ก็จะใช้เวลาประมาณ 3 วันในการเตรียมการฉีดเข็มแรก และได้กำหนดกลุ่มในการฉีดไว้แล้ว แต่ละชนิดของวัคซีนจะมีข้อบัญญัติไว้ชัดเจนว่าควรฉีดในกลุ่มไหน อายุเท่าไหร่ แต่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ ขอให้รอฟังทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะชี้แจงให้ทราบต่อไป

สำหรับวัคซีน โควิด-19 ล็อตที่ 2 จำนวน 8 แสนโดส และล็อตที่ 3 อีก 1 ล้านโดสก็จะตามมา ส่วนหนึ่งจะนำมาฉีดเข็มที่ 2 ของให้กลุ่มแรก และที่เหลือก็จะเป็นเข็มที่ 1 ของคนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็จะต้องพิจารณาให้ครบทุกกลุ่ม

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำไปว่าให้ดูในส่วนของพื้นที่เสี่ยงเป็นหลักด้วย นอกจากบุคคลากรทางการแพทย์แล้วยังมีประชาชนกลุ่มเสี่ยง ทั้งกลุ่มแรงงานและในพื้นที่ท่องเที่ยวด้วย ซึ่งคนที่ได้รับการฉีดไปแล้วก็จะปลอดภัยในระดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือนั้นก็คงต้องรอจนกว่าจะฉีดให้ครบในจำนวนวัคซีนที่ทยอยได้รับมา

อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกคนยังคงระมัดระวัง ใช้หน้ากากอนามัย และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ควบคู่ไปด้วย เพราะจะสามารถป้องกันได้ในระดับที่ดีพอสมควร ใครได้รับวัคซีนหรือยังไม่ได้รับก็ยังคงต้องใส่หน้ากากอยู่

สำหรับในส่วนของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) 26 ล้านโดสจะเข้ามาประมาณเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน และอีก 35 ล้านโดสก็จะตามมา ซึ่งเราต้องกำหนดเป้าหมายการฉีดให้ต่อเนื่อง สอดคล้องกัน

วัคซีน22

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สำหรับความก้าวหน้าของการขึ้นทะเบียน วัคซีนโควิด-19 นั้น วันนี้ทาง องค์การอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนให้กับแอสตราเซเนกาแล้ว ส่วนของชิโนแวกกำลังดำเนินการ น่าจะทันก่อนวัคซีนล็อตแรกจะเข้ามา ส่วนที่กำลังมาขอขึ้นทะเบียนได้แก่จอนสัน แอนด์ จอนสัน (Johnson & Johnson) อยู่ในขั้นตอนส่งเอกสารมาซึ่งยังไม่ครบ ส่วนโมเดอร์นา (Moderna) ไฟเซอร์ (Pfizer) ได้มาพูดคุยแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งเอกสารมา

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยพร้อมหากมีความร่วมมือกันได้ตรงนี้ เราไม่ได้ปิดกั้นใครทั้งสิ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกรณีที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Use) เพราะมันจำเป็น ที่ว่าใครจะขอนำเข้าก็ต้องมาขอ อย. และที่สำคัญที่สุดคือต้องฉีดตามแผนการฉีดวัคซีนของรัฐที่กำหนดไว้ในขั้นต้น

อาจจะมี ภาคเอกชน โรงพยาบาลเอกชนสั่งมาได้ ซื้อมาได้ก็ตาม แต่ต้องอยู่ในแผนการฉีดของรัฐ ซึ่งถือเป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่มีรายได้สูงหรือผู้ที่ต้องการจะฉีดให้เร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในแผนการฉีดวัคซีนของรัฐ ต้องอยู่ในข้อกำหนดว่ากลุ่มไหน อย่างไร อันนี้เพื่อความปลอดภัยของทุกคน รัฐบาลมุ่งเน้นในเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะเป็นห่วงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo