World News

ทำความรู้จัก ‘Clubhouse’ แอปมาแรง จนถูก ‘จีน’ แบน

 

“ค่ายปรับทัศนคติ” ที่เขตซินเจียงของจีนมีจริงหรือไม่ ไต้หวันควรได้รับเอกราชจากจีนหรือเปล่า หัวข้อสนทนาเหล่านี้ กำลังเป็นเรื่อง ที่ชาวเน็ตถกเถียงผ่านแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียชื่อ “คลับเฮาส์” (Clubhouse) ที่คนใช้เสียงคุยกันอย่างเดียว และกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในขณะนี้  จึงไม่น่าแปลกใจที่ล่าสุด ผู้คนในจีน จะใช้แอปพลิเคชันนี้ไม่ได้แล้ว 

คลับเฮาส์ คืออะไร

คลับเฮาส์เป็นแอปพลิเคชัน ที่ยังใช้ได้เฉพาะในหมู่คนใช้โทรศัพท์มือถือไอโฟนเท่านั้น และต้องได้รับ “คำเชิญ” จากคนที่ใช้แอปอยู่แล้วเท่านั้น ถึงจะเข้าไปใช้เพื่อพูดคุยกันทางเสียงเท่านั้น ลักษณะคล้าย ๆ กึ่งวิทยุสื่อสาร กึ่งห้องประชุมออนไลน์ เหมือนกับกำลังฟังพอดแคสต์แบบสด ๆ แต่ก็สามารถเข้าไปพูดคุยได้ด้วย

ข้อมูลจาก เซ็นเซอร์ทาวเวอร์ (Sensor Tower) บริษัทวิเคราะด้านแอปพลิเคชันบนมือถือ แสดงให้เห็นว่า นับถึงวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา แอปพลิเคชันนี้ ถูกดาวน์โหลดไปแล้ว 2.3 ล้านครั้ง หลังเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งในขณะนั้น มูลค่าของเครือข่ายโซเชียลมีเดียนี้ อยู่ที่เกือบ 100 ล้านดอลลาร์ แต่มีรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีมูลค่าพุ่งขึ้นไปแตะระดับพันล้านดอลลาร์แล้ว

ในเชิงเทคนิคแล้ว แอปพลิเคชันนี้ มีมาตรการรักษาความเป็นส่วนตัวในระดับหนึ่ง เนื่องจากไม่มีทางเลือกให้คนอัดเสียงบทสนทนาเอาไว้ได้ แต่ก็มีกรณีที่มีคนแอบอัดเสียงสนทนาของคนดัง แล้วเอาไปอัปโหลดลงยูทูบในภายหลัง

ขณะนี้ ผู้มีชื่อเสียงในสหรัฐ เริ่มหันมาใช้คลับเฮาส์กันมากขึ้น อาทิ โอปราห์ วินฟรีย์ เดรก และจาเรด เลโต จากเดิม ที่นิยมใช้กันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และนักลงทุน แถบซิลิคอนวัลเลย์เท่านั้น โดยยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้ พุ่งเป็นเท่าตัวหลัง “อีลอน มัสก์” และ “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” เริ่มใช้แพลตฟอร์มนี้ด้วย

คลับเฮาส์

ช่องโหว่ที่จีนต้องปิด 

ที่ผ่านมา ผู้คนในจีนสามารถใช้คลับเฮาส์ได้ จนถึงเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว โดยในระหว่างช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น คนได้ถือโอกาสใช้ “ช่องโหว่” นี้ พูดคุยกันถึง “เรื่องต้องห้าม” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาวอุยกูร์ในซินเจียง การปราบปรามผู้ประท้วงฮ่องกง หรือความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน

“นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันเข้าอินเทอร์เน็ตจริง ๆ” หญิงจากจีนแผ่นดินใหญ่คนหนึ่ง กล่าวในห้องสนทนา

นอกจากนี้ ยังมีห้องสนทนาอย่าง “Everyone asks Everyone” ที่เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน คนจากทั้งจีน และไต้หวัน ร่วมพูดคุยกันด้วยภาษาจีนกลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประโยชน์ของประชาธิปไตย ในประเทศที่คนพูดภาษาจีน ความเป็นไปได้ที่จีนจะมาผนวกไต้หวัน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอย่างเป็นทางการ ไปจนถึงเรื่องส่วนตัว

ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างจีน กับไต้หวัน และฮ่องกง นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะจีนใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนในการคัดกรอง และตรวจสอบข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของพลเมือง ซึ่งนักวิจารณ์เรียกเครื่องมือเหล่านี้แบบเสียดสีว่า “กำแพงไฟร์วอลล์เมืองจีน” (great firewall)

ขณะนี้ หากคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบนแพลตฟอร์มที่ยังใช้ได้ในประเทศอย่างเว็บไซต์ เว่ยป๋อ (Weibo) และแอปพลิเคชัน วีแชท (WeChat) ก็อาจถูกทางการจัดการได้ แต่ในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่คนในจีนสามารถใช้คลับเฮาส์ได้ ไม่มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาการพูดคุยแต่อย่างใด ทำให้คนก็รู้สึกปลอดภัยในระดับหนึ่ง เนื่องจากไม่มีทางเลือกให้คนอัดเสียงบทสนทนาเอาไว้ จนถึงจุดหนึ่ง มีคนเข้าร่วมในห้องสนทนาดังกล่าวพร้อมกันถึง 5,000 คน

“ว่ากันตรง ๆ มันก็มีการโฆษณาชวนเชื่อกันทั้ง 2 ฝ่ายนั่นแหละ ทำไมเราไม่พยายามมาเข้าใจกัน และกันให้มากขึ้น เห็นใจกัน และให้การสนับสนุนกัน” หญิงจากไต้หวันคนหนึ่งกล่าว

เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว มีห้องสนทนาชื่อ “มีค่ายกักกันที่ซินเจียงหรือเปล่า” (Is there a concentration camp in Xinjiang?) ที่คนเข้าไปถกเถียงกันนานถึง 12 ชั่วโมง ฟรานซิส (นามสมมติ) ซึ่งเป็นผู้สร้างกลุ่มบอกว่า กลุ่มนี้ไม่ได้มีเพื่อตั้งคำถามว่า ค่ายกักกันมีจริงหรือไม่ แต่เพื่อให้คนมีแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ต่อนโยบายของจีนในเขตปกครองซินเจียง

“ผู้ฟังที่เป็นชาวจีนเชื้อสายฮั่นหลายคน ซึ่งเคยไม่เชื่อว่า มีค่ายเหล่านี้จริง รู้สึกร่วมไปกับคำบอกเล่าเรื่องราวชีวิตจากปากชาวอุยกูร์ และเข้าใจในที่สุดว่า มีเรื่องโหดร้ายแค่ไหนเกิดขึ้น นี่อาจเป็นความสำเร็จสูงสุดของกลุ่มสนทนานี้” ฟรานซิส ซึ่งเป็นเป็นนักทำหนังชาวจีนเชื้อสายฮั่นที่อาศัยอยู่ในนครลอสแอนเจลิส กล่าว

คลับเฮาส์

ไร้มาตรการควบคุม สร้างความกังวล

ขณะที่แอปพลิเคชัน ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็เริ่มมีความกังวลมากขึ้นเช่นกัน โดยคนวิจารณ์ว่า ไม่มีมาตรการควบคุมผู้เข้าร่วมบทสนทนา

เมื่อเดือน ธันวาคม ปีที่แล้ว “เครก เจนกินส์” เขียนบทความลงในเว็บไซต์ “วัลเชอร์” (Vulture) ว่า หากผู้ที่สร้างกลุ่ม และคอยควบคุมบทสนทนาไม่ระวัง การพูดคุยก็อาจกลายเป็นการโจมตีกัน และกันได้

เขาบอกอีกว่า ต้องรอดูกันต่อไปว่า คนแค่สนใจแอปพลิเคชันแบบเดียวกับ การแชทออนไลน์กับคนแปลกหน้า ในทศวรรษ 90 เพียงเพราะตอนนี้ ต้องอยู่กับบ้าน และรู้สึกเหงาหรือเปล่า

ที่มา :  BBC Thai

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo