Personal Finance

เช็คเลย! ‘ขั้นตอนไกล่เกลี่ยหนี้’ บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล

เปิดรายละเอียด “ขั้นตอนไกล่เกลี่ยหนี้” บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล งาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล” ช่วยลูกหนี้ 3 กลุ่ม หมดหนี้ได้ สมัครออนไลน์ได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการบัตรเครดิต และสินเชื่อกว่า 22 แห่ง จัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล”

บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล

ความพิเศษของงานครั้งนี้

  • การไกล่เกลี่ยแบบใหม่ที่ ธปท.เข้าไปช่วยจัดทำข้อตกลง ที่เป็นมาตรฐานกลาง ที่มีข้อเสนอการรับชำระหนี้ที่ผ่อนปรน และอยู่ในวิสัยที่จะสามารถปฏิบัติได้
  • ครอบคลุมหนี้บัตรทุกกลุ่ม ถือเป็นการไกล่เกลี่ยที่ครอบคลุมทุกสถานะทั้งหนี้ดี หนี้ที่เสียแล้ว หรือหนี้ที่อยู่ในชั้นบังคับคดี

ข้อเสนอผ่อนปรนสำหรับลูกหนี้ 3 กลุ่ม

  • กลุ่มที่ 1 กลุ่มลูกหนี้ NPL ที่มีคำพิพากษา และเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีแล้ว

เป้าหมายสำคัญ และถือเป็นความพิเศษของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยในครั้งนี้คือ การไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลในส่วนที่มีคำพิพากษา และถูกบังคับคดีแล้ว ซึ่งไม่สามารถเข้าคลินิกแก้หนี้ได้

ปกติเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขั้นตอนนี้เจ้าหนี้มักจะไม่ยอมเจรจา แต่ในครั้งนี้ ผู้ให้บริการทางการเงินจำนวน 22 แห่ง เล็งเห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็น ที่เจ้าหนี้ต้องผ่อนปรน และช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายเดินต่อไปได้ จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในชั้นบังคับคดี สามารถที่จะเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกันได้อีกครั้งหนึ่ง

โดยมีข้อเสนอให้ชำระเฉพาะเงินต้น ไม่มีดอกเบี้ย โดยมีการวางกรอบการชำระหนี้ไว้ 3 ระยะ คือภายใน 3 เดือน ภายใน 3 ปี และภายใน 5 ปี หากชำระได้ตามแผนก็จะยกดอกเบี้ยให้ลูกหนี้

บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล

  • กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ NPL ที่ยังไม่ถูกฟ้องร้อง หรือถูกฟ้องแล้ว

เมื่อสมัครเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ จะมีการรับเรื่องเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ในกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ของศาล พร้อมกันนี้ ยังมีข้อเสนอผ่อนชำระ ระยะยาว เช่น ภายใน 10 ปี เป็นต้น โดยสามารถใช้ช่องทางของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยครั้งนี้ สมัครเข้าคลินิกแก้หนี้ได้เลย

จากการที่ ธปท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง ร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลรับข้อเสนอของคลินิกแก้ห นี้เป็นหนึ่งข้อเสนอที่ใช้ในขั้นตอนไกล่เกลี่ยออนไลน์ของศาล ลูกหนี้ที่ใช้ช่องทางนี้ จะถือว่าสมัครเข้าคลินิกแก้หนี้ และเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของศาลไปพร้อม ๆ กัน

ข่าวดีสำหรับลูกหนี้กลุ่มนี้คือ คลินิกแก้หนี้ได้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ จากเดิมที่จะต้องเป็นหนี้ NPL ก่อน 1 กรกฎาคม 2563 เป็น NPL ก่อน 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้สามารถรองรับลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤติโควิด-19

ศาลอำนวยความสะดวกให้ทางเลือกลูกหนี้ สามารถเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยผ่านช่องทางออนไลน์ของศาล (ระบบ CIOS) หากตกลงกันได้ สามารถเลือกไปลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงได้ที่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศ โดยมีศาลที่นำระบบดังกล่าวไปใช้แล้วกว่า 232 แห่ง

บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล

  • กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว ค้างชำระเกิน 3 เดือน

ธปท. จะช่วยแปรสภาพหนี้เป็นระยะยาว คิดดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลง ขั้นตอนการไกล่เกลี่ยหนี้ครอบคลุมทุกวงจรของหนี้บัตร โดยเริ่มตั้งแต่ลูกหนี้ที่คงสถานะเป็นหนี้ดี จ่ายได้ในอัตราขั้นต่ำ แต่เริ่มขาดสภาพคล่อง เพราะดอกเบี้ยสูง

หากลูกหนี้ต้องการลดภาระที่แบกไว้เนิ่นนานให้ลดน้อยลง สามารถขอเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิต ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง 16% เป็นหนี้ที่มีระยะเวลาผ่อนนานถึง 4 ปี โดยดอกเบี้ยต่ำลงคือ 12% และมีค่างวดที่แน่นอนได้ ซึ่งจะดีกว่าการจ่ายผ่อนขั้นต่ำไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ยังสามารถขอให้ผู้ให้บริการที่เป็นเจ้าหนี้ คงวงเงินบัตรเครดิตบางส่วนเอาไว้ได้อีกด้วย โดยการเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ที่มีระยะเวลาดังกล่าว เป็นแนวทางหนึ่งของมาตรการขั้นต่ำ ในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. ซึ่งจะไม่กระทบประวัติในฐานข้อมูลเครดิตบูโร

ลูกหนี้ที่ต้องการเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ที่มีระยะเวลาซึ่งอัตราดอกเบี้ยต่ำลง สามารถใช้ช่องทางไกล่เกลี่ยในงานนี้ได้เช่นกัน และ ธปท. จะส่งคำขอของลูกหนี้ไปยังผู้ให้บริการทางการเงิน

ที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามผลักดัน ให้มีการไกล่เกลี่ยเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น อาจจะไม่ใช่การไกล่เกลี่ยที่แท้จริง ที่ตอบโจทย์ และช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน

ส่วนหนึ่งเพราะข้อเสนอแผนปรับหนี้ส่วนใหญ่ในชั้นไกล่เกลี่ย มักจะมาจากเจ้าหนี้ ซึ่งก็เป็นปกติธรรมดา ที่แผนหรือข้อเสนอรับชำระหนี้จะมุ่งตอบโจทย์เจ้าหนี้ แต่อาจจะไม่ได้คำนึงถึงว่าลูกหนี้จะสามารถทำตามแผนได้หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าลูกหนี้จำนวนไม่น้อย ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ตามข้อตกลงจนสิ้นสุดสัญญา

บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล

อย่างไรก็ดี สำหรับการไกล่เกลี่ยรูปแบบใหม่ ธปท.ในฐานะคนกลาง จะเข้าไปช่วยดูข้อตกลงที่จะใช้เป็นแนวทางกลางในการไกล่เกลี่ยคดีผู้บริโภค ซึ่งคล้ายกับบทบาทที่ ธปท.ทำในการหาข้อตกลงมาตรฐานกลาง ในส่วนของหนี้บัตรของคลินิกแก้หนี้

เนื่องจากปัจจุบันยังจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 งานมหกรรมที่จัดขึ้น จะเป็นมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์ (Online Debt Mediation) โดยการสมัครเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ประชาชนที่มีปัญหาด้านการชำระหนี้ สามารถเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ด้วยการ ลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) ถึงวันที่ 14 เมษายน 2564  ทางเว็บไซต์ของ สำนักงานศาลยุติธรรม, กรมบังคับคดี, ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) 

ภายหลังการลงทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับภายใน 1 สัปดาห์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1213

ทั้งนี้ ธปท. ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2564 จะสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งได้ไม่ต่ำกว่า 300,000  คดี ถ้าดูตัวเลขการฟ้องทั้งหมดมีประมาณ 2 ล้านคดีต่อปี 1.3 ล้านคดีเป็นคดีแพ่ง ซึ่งตัวเลขเป้าหมาย 300,000 คดีหมายความว่า อย่างน้อย 1 ใน 4 ของคดีแพ่งในปีนี้ เจ้าหนี้-ลูกหนี้ ควรจะสามารถไกล่เกลี่ยหาข้อยุติกันได้ โดยจะมุ่งเน้นคดีผู้บริโภค ที่มีการฟ้องร้องสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต กู้ยืม เช่าซื้อ และหนี้ กยศ.

1 12 e1613204454526

รายชื่อผู้ให้บริการทางการเงิน 22 แห่งที่เข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล

ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง

  1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  5. ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. สาขากรุงเทพมหานคร
  6. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
  7. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
  8. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  9. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
  10. ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)

Non-bank  12 แห่ง

  1. บริษัท เจนเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด
  2. บริษัท ซิตี้คอร์ปลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
  3. บริษัท เทสโก้ โลตัส มันนี่ เซอร์วิส จำกัด
  4. บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด
  5. บริษัท พรอมิส (ประเทศไทย) จำกัด
  6. บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)
  7. บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
  8. บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด
  9. บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
  10. บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน)
  11. บริษัท ไอทีทีพี จำกัด
  12. บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo