Business

คิงเพาเวอร์ควัก1.4 หมื่นล้านซื้อทำเลทอง ‘มหานคร’

มหานคร1
โครงการมหานคร

การขายสินทรัพย์โครงการมหานครของบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เมื่อเกิดดีลเจรจาซื้ออสังหาฯกับบริษัทแสนสิริ จำกัด(มหาชน)  แต่ดีลก็ล่มลงเมื่อฝ่ายผู้ซื้อแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าขอล้มเลิกดีลเพราะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน

หลังจากนั้นความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นต่อเนื่องว่าเพซ พยายามเสนอขายสินทรัพย์ให้กลุ่มทุนอื่น กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 กลุ่ม คิง เพาเวอร์เข้ามาซื้อโครงการมหานคร ด้วยเม็ดเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท

อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา
อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา

การซื้อพื้นที่จุดชมวิว และโรงแรม ถือว่าตอบโจทย์คิงเพาเวอร์ ที่ทำเรื่องท่องเที่ยวอยู่แล้ว

นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์  ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ The bangkok insight ภายหลังเซ็นสัญญากับผู้บริหารของเพซ ถึงดีลนี้ว่าได้มีการซื้อสินทรัพย์ของโครงการมหานครจริง และได้ลงนามซื้อขายกันตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 10 เมษายน 2561 เป็นสัญญาซื้อสินทรัพย์บริษัทลูกของเพซ คือบริษัท เพซ โปรเจ็ค วัน จํากัด (PP1) และบริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี จำกัด (PP3) ที่ดูแลธุรกิจโรงแรม จุดชมวิว ตึกคิวบ์ และพื้นที่ส่วนรวมด้านหน้า กับบริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ สินทรัพย์ดังกล่าวได้มีการโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว

5555

 1.4หมื่นล้านซื้อโรงแรม-ค้าปลีก-จุดชมวิว

“ดีลนี้เป็นการซื้อสินทรัพย์ ไม่ได้ซื้อบริษัท” นายอัยยวัฒน์ ย้ำและว่าการลงทุนครั้งนี้ คิง เพาเวอร์ มหานคร ได้ใช้เม็ดเงินในการซื้อสินทรัพย์รวมมูลค่า 1.28 หมื่นล้านบาท และมีค่า success fee อีก 1,200 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้นกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

สำหรับโครงการมหานครเป็นอาคารสูง 78  ชั้น ที่ประกอบด้วย โรงแรม , เรสซิเด้นท์ , ตึกคิวบ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ค้าปลีก และจุดชมวิว  Sky Observation Deck บริเวณชั้น 74-78 ซึ่งสินทรัพย์ที่คิงเพาเวอร์ มหานคร ซื้อประกอบด้วยโรงแรม (เครือแมริออท)ซึ่งอยู่ในอาคารมหานครชั้น 1-20 จำนวน 155 ห้อง รวมห้องอาหาร ห้องจัดสัมมนา มูลค่า 6,715 ล้านบาท

23658732 1738348482903428 7415565500684782897 n

นอกจากนี้ ยังได้ซื้อจุดชมวิว ชั้นที่ 74-77  รวมสกายบาร์ ร้านขายสินค้าของที่ระลึก และตึกคิวบ์ ซึ่งเป็นพื้นที่รีเทล 7 ชั้นพื้นที่ใช้สอย  5,000 ตารางเมตร บริเวณด้านหน้าโครงการ และพื้นที่รีเทล ตึกมหาคร 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 2,000 ตารางเมตร  รวมมูลค่า  5,220  ล้านบาท และพื้นที่ส่วนรวม 63 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท และยังได้กันเงินสดอีก 800 ล้านบาท สำหรับนำมาใช้ในการก่อสร้างโครงการที่เหลือให้แล้วเสร็จ

นายอัยยวัฒน์ กล่าวว่าสินทรัพย์ที่ซื้อนี้ทุกส่วนแยกทางเข้า-ออกกันหมด กลุ่มที่ขึ้นไปจุดชมวิวจะกำหนดชั้นให้เข้าออก ที่ชั้น 2-4 ซึ่งเป็นพื้นที่รีเทล 2,000 ตารางเมตร ซึ่งคิงเพาเวอร์ มหานคร จะไปเปิดร้านรีเทลในพื้นที่นี้ด้วย

170612092845 4 mahanakhon bangkok

    จุดชมวิวดาดฟ้าโครงการมหานคร

เล็งโอกาสต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยว

“การซื้อสินทรัพย์ครั้งนี้ มองจากโอกาสที่เข้ามาว่าน่าลงทุนเป็นอันดับแรก  และเป็นเรื่อง diversify ธุรกิจที่เราต้องทำเหมือนธุรกิจทั่วไป” นายอัยยวัฒน์ กล่าวและว่าการซื้อพื้นที่จุดชมวิว และโรงแรม ถือว่าตอบโจทย์คิงเพาเวอร์ ที่ทำเรื่องท่องเที่ยวอยู่แล้ว เมื่อได้จุดชมวิวบนอาคารที่สูงที่สุดของกรุงเทพฯ เหมือนกับจุดขายอาคารสูงทั่วโลกที่จะมีจุดชมวิว ซึ่งนักท่องเที่ยวสนใจที่จะเข้าไปท่องเที่ยวตามเมืองใหญ่ทั่วโลก

“เป็นการลงทุนที่ยังตอบโจทย์คิงเพาเวอร์ เพราะเราเข้าใจนักเดินทางว่าชอบและต้องการอะไร” ซีอีโอคิง เพาเวอร์ ย้ำและว่าการลงทุนครั้งนี้ ถือเป็นการซื้อสินทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่เป็นการลงทุนของครอบครัว ซึ่งระยะเวลาคืนทุนน่าจะอยู่ที่ 10 ปีขึ้นไป เหมือนการลงทุนซื้อโรงแรมทั่วไป

โครงการปัจจุบันยังสร้างไม่เสร็จ ในส่วนโรงแรมและจุดชมวิว หลังจากนี้จะเข้าไปดูการก่อสร้างที่เหลือ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใตไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน2561

z6942307QMahaNakhon Tower wiezowiec planowany w Bangkoku
การออกแบบผนังกระจกในส่วนเรสซิเดนซ์ โครงการมหานคร

การเข้าไปซื้อสินทรัพย์ของเพซ ครั้งนี้คิงเพาเวอร์ มหานคร เชื่อว่าเป็นอาคารที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยเฉพาะใช้เป็นแหล่งให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมวิวหรือชมเมืองในกรุงเทพฯได้ ในส่วนของคิงเพาเวอร์เองก็มีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชอปปิ้งสินค้าปีหนึ่งๆจำนวนมาก

“ตึกนี้ถ้าปีหนึ่งมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปชมวิวได้ประมาณ 2 ล้านคน ค่าใช้จ่ายในการชมวิวคนละ500 บาท ปีหนึ่งก็มีรายได้เป็นพันล้านบาทแล้ว โดยธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาเองอาคารสูงๆเขาจะมีรายได้จากการให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมวิวมีรายได้ที่ดีกว่าค่าเช่าพื้นที่ด้วยซ้ำ”แหล่งข่าว จากคิงเพาเวอร์ ระบุ

สำหรับราคาหุ้น บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ปิดการซื้อขายที่ 0.58 บาท เพิ่มขึ้น 0.03 บาท หรือ 5.45% โดยระหว่างวันราคาปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 0.62 บาท บวกมากกว่า 10% มูลค่าการซื้อขาย 153 ล้านบาท

“มหานคร”บิ๊กโปรเจ็ค 2.2 หมื่นล้าน

บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE เป็นผู้พัฒนาโครงการมหานคร ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาที่ดินแบบมิกส์ยูสขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการ 2.2 หมื่นล้านบาท ประกอบไปด้วยห้องชุดสุดหรูเดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส จำนวน 209 ยูนิต ราคาขาย 45-300 ล้านบาทต่อยูนิต ปัจจุบันขายไปแล้วประมาณ 156 ยูนิต, โรงแรมบูทีคโฮเทล เดอะ บางกอก เอดิชั่น จำนวน 155 ห้อง จุดชมวิวบนอาคารมหานคร (มหานคร ออบเซอร์เวชั่นเด็ค) รวมถึงศูนย์การค้า

โครงการนี้จะเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย ที่ความสูง 314 เมตร จำนวน 77 ชั้น บนพื้นที่ 9 ไร่เศษ บนถ.นราธิวาสราชนครินทร์ สถานีรถไฟฟ้บีทีเอส ช่องนนทรี ที่ออกแบบเสมือนโอบล้อมด้วยริบบิ้นสามมิติ หรือ‘พิกเซล’ ตลอดความสูงของตัวอาคาร ก่อให้เกิดโครงสร้างที่โดดเด่นสะดุดตาและมีรูปลักษณ์พิเศษ ที่เป็นพื้นที่ซึ่งล้อมรอบไปด้วยกระจกราวกับลอยอยู่บนฟ้า ชมทิวทัศน์แบบพาโนรามา ให้ผู้พักอาศัย มีพื้นที่ใช้สอยภายนอกและภายในอาคารที่กว้างขวาง และเทอเรซที่กว้างใหญ่

“มหานคร ทาวเวอร์” 77 ชั้นประกอบด้วย

  • ชั้น 1 – 20 โรงแรมบางกอก เอดิชั่น โรงแรมรูปแบบบูทีค บริหารโดย เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน 155 ห้อง
  • ชั้น 23 – 73 เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก ที่พักอาศัยระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ จำนวน 209 เรสซิเดนซ์ ทุกเรสซิเดนซ์มอบพื้นที่รายล้อมด้วยกระจก สร้างบรรยากาศราวกับลอยอยู่บนฟ้า พร้อมบริการระดับ 5 ดาวในมาตรฐาน เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน โดยเรสซิเดนซ์ มีขนาดตั้งแต่ 125 – 844 ตารางเมตร (2-5 ห้องนอน) ราคาต่อเรสซิเดนซ์เริ่มตั้งแต่ 45-300 ล้านบาทโดยประมาณ แต่ละเรสซิเดนซ์เป็นกรรมสิทธิ์แบบฟรีโฮลด์ ปัจจุบันมียอดขายแล้วกว่า 70%
  • ชั้น 74 – 77 จุดชมวิว Sky Observation Deck’ และ บาร์ดาดฟ้าเอาท์ดอร์ สำหรับชมทัศนียภาพของกรุงเทพฯ แบบพาโนราม่าที่ความสูง 314 เมตร โครงการมีความตั้งใจที่จะสร้างจุดชมวิวบนชั้นสูงสุดของอาคารมหานครแห่งนี้ ให้เป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวที่ทันสมัย เทียบเท่ากับจุดชมวิวบนอาคารสูงในเมืองหลักๆ ของโลก มีทางเข้าเป็นส่วนตัว พร้อมพื้นที่รีเทลและพื้นที่แสดงจัดนิทรรศการเกี่ยวกับกรุงเทพมหานคร บริเวณชั้นล่างของอาคาร

พื้นที่ค้าปลีก มหานคร คิวบ์ ความสูง 7 ชั้น เป็นอาคารไลฟ์สไตล์ รีเทล ศูนย์ค้าปลีกที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี มีอาหารชั้นเลิศหลากสไตล์จากร้านชั้นนำระดับโลก เช่น ‘ลัตเตอลิเย เดอ โจเอล โรบูชง’, ‘โว้ก เลาจน์’ และ‘ดีน แอนด์ เดลูก้า’ พร้อมมีเดียวอลล์ขนาดใหญ่ และอาคารจอดรถ ซึ่มีที่จอดรถระบบอัจฉริยะ สามารถจอดรถได้ 485 คัน

“เพซ”แจ้งตลาดขายทรัพย์สิน 1.4 หมื่นล้าน

ล่าสุด PACE ได้แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 10/2561 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 มีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าทำรายการดังต่อไปนี้ ซึ่งบริษัทได้เข้าทำรายการในวันที่ 10 เมษายน 2561 สรุปรายละเอียดได้ดังนี้

1.อนุมัติการจำหน่ายทรัพย์สิน มูลค่ารวมจำนวนไม่เกิน 1.4 หมื่นล้านบาท ให้แก่ บริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด ซึ่งไม่เป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ ดังนั้นรายการจึงไม่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันตาม ประกาศรายการที่เกี่ยวโยงกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ก) การจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เพซ โปรเจ็ค วัน จำกัด (“PP1”) และบริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี จำกัด (“PP3”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท โดยทรัพย์สินที่ PP1 และ PP3 จะจำหน่าย ได้แก่ ที่ดิน โรงแรม อาคารจุดชมวิว อาคารรีเทลคิวบ์ ปฏิมากรรม ภาพวาด ใบอนุญาตต่างๆ รวมถึงสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจของ PP1 (โรงแรม) และ PP3 (อาคารจุดชมวิวและอาคารรีเทลคิวบ์) ในโครงการมหานคร คิดเป็นมูลค่ารวมไม่เกิน 12,617 ล้านบาท

ข) การจำหน่ายที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่าง PP1 บริษัท เพซ โปรเจ็ค ทู จำกัด (“PP2”) PP3 และ บริษัท เพซ เรียล เอสเตท จำกัด (PRE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 183 ล้านบาท

การเข้าทำรายการครั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับค่าตอบแทนสำหรับการจัดหา บริหารและดำเนินการให้เกิด รายการ เป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ยังได้อนุมัติให้บริษัทเข้าซื้อหุ้นที่อพอลโล เอเชีย สปริ้นท์ คอมปานี ลิมิเต็ด (อพอลโล) และโกลด์แมน แซคส์ อินเวสเมนท์ส โฮลดิ้งส์ (เอเชีย) ลิมิเต็ด (โกลด์แมน) ถืออยู่ใน PP1 และ PP3 คิดเป็น 49% และ 48.72% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทดังกล่าวตามลำดับ ทั้งหมดรวมเป็นเงินจานวนไม่เกิน 320 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท (คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 9 เมษายน 2561 ที่ 31.25 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ)

Avatar photo