COVID-19

ฉีดวัคซีนโควิด-19 สธ.เปิดรายละเอียด ระยะเวลา กลุ่มเป้าหมาย 10 จังหวัดแรก

ฉีดวัคซีนโควิด-19 สธ.เปิดรายละเอียดชัดเจน ทั้งระยะเวลา กลุ่มเป้าหมาย จำนวนโรงพยาบาล 10 จังหวัดระยะแรก เพิ่มจังหวัดตาก ที่กำลังแพร่ระบาด

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า แผนการ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่จะเริ่มในเดือนมีนาคมนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด โดยมี นายแพทย์โสภณ เมฆธน เป็นประธานคณะอนุกรรมการ เพื่อบริหารจัดการการฉีดวัคซีนให้ประชาชน

ฉีดวัคซีนโควิด-19

ทั้งนี้ การจัดหาและฉีดวัคซีนโควิด ให้กับประชาชน จะเน้นการยึดหลักการ ความปลอดภัย ประสิทธิภาพความรวดเร็ว และความเป็นธรรม โดยจากวัคซีนทั้ง 2 ชนิดที่ประเทศไทยจัดหามา คือ ซิโนแวค 2 ล้านโดส ที่จะฉีดระยะแรก และ จากแอสตราเซนเนกา 61 ล้านโดส ในระยะที่ 2 จากการติดตามผลการฉีด เชื่อมั่นได้ในความปลอดภัย

นายแพทย์โสภณ เมฆธน
นพ.โสภณ เมฆธน

สำหรับ เป้าหมายการให้วัคซีนโควิด ประกอบด้วย

1. เพื่อลดอัตราการป่วยและตาย เน้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะป่วยรุนแรง และเสียชีวิตหากติดเชื้อ ได้แก่ ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง

 

2. เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ กลุ่มเป้าหมายคือ บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย

3. เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กลุ่มเป้าหมายคือ แรงงานในภาคธุรกิจบริการ อุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไป (กรณีแรงงานต่างชาติ จะเป็นการร่วมจ่ายโดยเจ้าของกิจการ)

ฉีดวัคซีนโควิด-19
ทั้งนี้ การฉีด วัคซีนโควิด-19 จะแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1

เดือน ก.พ.-พ.ค. 2564 จำนวน 2 ล้านโดส เน้นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด อาทิ สมุทรสาคร แม่สอดจ.ตาก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวม 10 จังหวัด

กลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 1

  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน
  • บุคคลที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคอ้วน
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  • เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย

ฉีดวัคซีนโควิด-19

ระยะที่ 2

เดือน มิ.ย.-ธ.ค. 2564 จำนวน 61 ล้านโดส ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่มีวัคซีนเพียงพอ และต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

กลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 2

  • บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขอื่นๆ นอกเหนือจากด่านหน้า
  • ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว
  • ประชาชนทั่วไป
  • นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ
  • แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

ฉีดวัคซีนโควิด-19

ขณะที่ กลยุทธ์การบริหารจัดการ วัคซีนโควิด-19 จะประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ คือ

กลยุทธ์ที่1 สื่อสารสาธารณะ สร้างความรู้ความเข้าใจประชาชน

กลยุทธ์ที่ 2 จัดบริการที่มีคุณภาพ ครอบคลุมประชาชนเป้าหมายอย่างรวดเร็ว เช่น กระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง ระดมความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ฝึกอบรมบุคลากร

ลยุทธ์ที่ 3 ประกันคุณภาพวัคซีน และติดตามอาการข้างเคียง จัดระบบเฝ้าระวัง ช่วยเหลือเยียวยา กรณีเกิดอาการข้างเคียง

กลยุทธ์ที่ 4 พัฒนาระบบข้อมูล ช่วยการบริหารจัดการ เช่น ระบบลงทะเบียน ระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล

กลยุทธ์ที่ 5 จัดการองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาบริการ การให้วัคซีน

โสภณ
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่ รองอธิบดี กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึง ผลสำรวจทัศนคติ ความคิดเห็นของประชาชน (ดีดีซี โพล) ระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2564 จากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2,800 คน พบว่า 70% เห็นว่า บุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มที่ควรได้รับ วัคซีนโควิด-19 ก่อน และ 35% ระบุว่า ประชาชนทุกคนควรได้รับวัคซีน

ส่วนคำถามที่ว่า หากไม่มีรายงานติดเชื้อ หรือป่วยจากโควิด ยังอยากฉีดวัคซีนอยู่หรือไม่ พบว่า ประชาชน 70% ยังคงต้องการฉีด วัคซีนโควิด-19 มีเพียง 18% ไม่ต้องการฉีดวัคซีน

ฉีดวัคซีนโควิด-19

ในส่วนของพื้นที่ ที่จะมีการฉีด วัคซีนโควิด-19 ก่อน จะเป็นพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดมากก่อน ในระยะแรก ได้แก่ สมุุทรสาคร กรุงเทพ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และจังหวัดที่เคยเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม คือ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด รวมแม่สอด จังหวัดตากที่พบการระบาดเพิ่มขึ้นในขณะนี้

ปัจจุบัน การเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล ที่พร้อมฉีด วัคซีนโควิด-19 ในระยะที่ 1 ได้แก่ สมุทรสาคร 10 แห่ง, กทม. 62 แห่ง, สมุทรปราการ 30 แห่ง, นนทบุรี 21 แห่ง, ปทุมธานี 22 แห่ง, ระยอง 13 แห่ง, ชลบุรี 32 แห่ง, จันทบุรี 14 แห่ง, ตราด 8 แห่ง และ ตาก 11 แห่ง หากรวม 2 ระยะ จะมีโรงพยาบาลที่มีความพร้อมประมาณ
1,000 แห่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo